ผมเพิ่งอ่าน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เสนอ ข่าวปกเรื่อง “หมดยุค Tax Haven สรรพากรไล่เก็บภาษีทั่วโลก” อ่านแล้วก็ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะส่งผลกระทบประเทศไทย โดยเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการระดับบิ๊กที่ทุจริตคอร์รัปชัน และ มหาเศรษฐีที่หลีกเลี่ยงภาษี เอาเงินไปฝากไว้ในประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น บริติช เวอร์จิน, หมู่เกาะเคย์แมน อ่านแล้วคงสะดุ้งกันแปดตลบ เพราะจากนี้ไปกรมสรรพากรจะไล่บี้ตามไปเก็บภาษีที่เอาไปฝากไว้ทั่วโลกได้แล้ว ไม่ว่าจะฝากไว้ที่ Tax Haven ชั้นไหน ก็หนีไม่พ้น กว่าร้อยชาติจับมือร่วมกัน ประชาชนจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของนักการเมืองไทยที่ชอบชมตัวเองเป็นคนดีนั้นดีจริงหรือ ทำไมอาชีพการเมือง อาชีพข้าราชการเงินเดือนน้อย จึงมีเงินก้อนโตไปฝากไว้ในประเทศที่เป็นสวรรค์ของนักเลี่ยงภาษี
ความโปร่งใสในประเทศไทยจะได้เกิดขึ้นจริงๆเสียที
วารสารการเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ถึงรายละเอียด “กติกาภาษีใหม่ของโลก” ที่ OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้กำหนดขึ้นมาใหม่ มี 100 กว่าประเทศร่วมลงนามเป็นภาคี รวมทั้ง ประเทศไทย และ ประเทศที่เป็น Tax Haven สวรรค์ของนักเลี่ยงภาษีทุกประเทศ เช่น บริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์, เคย์แมน ไอส์แลนด์, เบอร์มิวดา, สวิตเซอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, ฮ่องกง, สิงคโปร์ เป็นต้น “กติกาภาษีใหม่ของโลก” จะครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลักคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันผลกำไรของบริษัทข้ามชาติ และ การกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย
คุณลวรณ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วม “ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล” ที่ชื่อว่า Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters (MAC) โอยเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้ลงนามในข้อตกลง MAC ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 และได้ให้สัตยาบันในความตกลง MAC โดยมีผลต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ปัจจุบันประเทศภาคีความตกลง MAC มีทั้งหมด 146 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีได้มากขึ้น
คุณลวรณ บอกว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงนี้ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่สำคัญในการยกระดับความโปร่งใส และความเป็นธรรมทางด้านการจัดเก็บภาษี ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการโยกย้ายเงิน หรือสินทรัพย์ทางการเงินไปเก็บไว้ที่ต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่าง ประเทศไทย และ ประเทศสมาชิก จะเริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป เบื้องต้นกรมสรรพากรมีข้อมูลภาษีแลกเปลี่ยนราว 200 ราย
ใครสนใจรายละเอียดมากกว่านี้หาอ่านได้ วารสารการเงินธนาคาร ครับ
OECD ยังได้เสนอให้ “ปฏิรูปภาษีในระดับสากล” คือ การเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมทั่วโลกตั้งแต่ 20,000 ล้านยูโร หรือ 720,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษี (Allocating Taxing Right) ไปยังประเทศที่มีรายได้ 25% และ กำหนดให้ธุรกิจทั่วโลกต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% จะเก็บภาษีต่ำกว่า 15% ไม่ได้
กติกาภาษีใหม่นี้ ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้นโยบายลดภาษีมาส่งเสริมการลงทุนได้อีกต่อไป บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะถูกเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% หมด ถ้าประเทศไทยไม่เก็บภาษี 15% ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่จะเก็บภาษี 15% แทนประเทศไทย
เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก และ จะพลิกโฉมประเทศไทยเลยทีเดียว ผมจึงนำมาย่อสู่กันฟัง ใครอยากอ่านฉบับเต็มก็ต้องไปอ่าน วารสารการเงินธนาคาร เอาเอง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”