คลังปักธงจีดีพีปี 66 โต 3.8% อานิสงส์จากนักท่องเที่ยว 27.5 ล้านคน ขณะที่จีดีพีปี 65 โต 3% ลดลงจากที่คาดการณ์ที่ 3.2% คลังฟุ้งแม้เศรษฐกิจโตไม่มาก แต่มูลค่าจีดีพีประเทศเพิ่มต่อเนื่อง จากปี 2562 อยู่ที่ 16.90 ล้านล้านบาท ปี 2565 อยู่ 17.40 ล้านล้านบาท และปีนี้คาดการณ์ 18.67 ล้านล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดขยายตัว 3.8% และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมที่ 18.67 ล้านล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์เติบโตอยู่ที่ 3.3-4.3% เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องฟื้นตัว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 147% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าจะชะลอตัวลงตามสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัว 0.4% ภายใต้ช่วงคาดการณ์ -0.1 -0.9%
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.6% เป็นผลจากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.8% ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.0-3.0% เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี
“การประมาณการปี 2566 นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 27.5 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล การส่งออกขยายตัว 5.3% อัตราเงินเฟ้อ 2.8% โดยแม้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่มูลค่าจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16.90 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤติโควิด แต่หลังจากโควิดคลี่คลาย มูลค่าจีดีพีก็เพิ่มขึ้น โดยปี 2565 อยู่ 17.40 ล้านล้านบาท”
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เริ่มจากปัจจัยบวกคือ การท่องเที่ยวที่มีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและรัสเซีย ส่วนปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.สัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ หรือความขัดแย้งทางการเมืองของหลายประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่างๆ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนภายใต้วิกฤติโควิด-19
นายพรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา ภาพรวมขยายตัว 3.0% มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 17.40 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.2% เป็นผลจากภาคการส่งออกที่หดตัวลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องฟื้นตัวและสถานการณ์เงินเฟ้อคลี่คลายลง
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ม.ค.2566 ทั่วทุกภาคของประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ รวมถึงคนไทยที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้นต่อเนื่อง
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ธ.ค.2565 ว่า เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดลง -22.6% และ -0.2% ตามลำดับเช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -9.8% อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.7 จากระดับ 47.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และสูงสุดในรอบ 25 เดือน โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 7.3% ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยลดลง อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ และสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมัน อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เป็นต้น.