พาเหรดขึ้น "ดอกเบี้ยเงินกู้" เด้งรับมติ กนง.แบงก์รัฐตรึงต่อไม่ไหว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาเหรดขึ้น "ดอกเบี้ยเงินกู้" เด้งรับมติ กนง.แบงก์รัฐตรึงต่อไม่ไหว

Date Time: 27 ม.ค. 2566 05:15 น.

Summary

  • 5 แบงก์รัฐ “ธอส.–เอ็กซิมแบงก์–ธพว.–ธ.ก.ส.–ออมสิน” ตบเท้าขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้พร้อมเพรียง หลังตรึงต่อเนื่องมากว่า 2ปี ชี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบที่4 ของ กนง.

Latest

ซื้อกองทุน Thai ESG ประหยัดภาษีได้สูงสุดเท่าไร

5 แบงก์รัฐ “ธอส.–เอ็กซิมแบงก์–ธพว.–ธ.ก.ส.–ออมสิน” ตบเท้าขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้พร้อมเพรียง หลังตรึงต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ชี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบที่ 4 ของ กนง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดภาระการผ่อนส่งหนี้ให้กับประชาชน แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังจากที่ กนง.มีมติล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 อีก 0.25% สถาบันการเงินของรัฐได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยให้เป็นไปตามต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.แนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อนั้น สถาบันการเงินของรัฐมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้น และมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธอส.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากอัตราปัจจุบันที่ 6.15% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.90% ต่อปี เป็น 6.15% ต่อปี

“โดยในส่วนของ ธอส.นั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 9 เดือน หลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย เมื่อ 25 พ.ค.63 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19”

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์ขอประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เอ็กซิมแบงก์ ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องให้สามารถปรับตัวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์นั้น ได้มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ หรือเอ็มแอลอาร์อีก 0.25% โดยมีผล ตั้งแต่ 25 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ปรับขึ้นจาก 6.75% เป็น 7.00% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดอื่นยังคงไว้ในอัตราเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนธนาคารออมสินได้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกชนิดอีก 0.25% เช่นกัน ตามมติสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.เป็นต้นไป

นอกจากนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ 0.125% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 6.5% เป็น 6.625% ขณะนี้ปรับดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์เพิ่ม 0.25% จาก 4.875% เป็น 5.125% และดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี หรือเอ็มโออาร์เพิ่ม 0.25% จาก 6.25% เป็น 6.50%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ