กนง.ครั้งแรกรับปีใหม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด และจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะตามเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังเพิ่ม ด้าน ธปท.จ่อปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวจีนทะลัก และเศรษฐกิจโลกแย่น้อยกว่าคาด จับตาส่งออกไทยชะลอ-ค่าบาทแข็ง ยอมรับห่วงกลุ่มเปราะบางที่ต้องรับมือกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่คาดรายได้ภาคบริการดีขึ้น หนุนรายได้เพิ่ม เพียงพอใช้จ่าย-ใช้หนี้
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า มติที่ประชุม กนง.ครั้งนี้เป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น 2 ด้าน ซึ่งจะมีผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กนง.มองว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ยังมีความจำเป็นไปอีกระยะ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ กนง.มองว่าดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา ประกอบด้วย ปัจจัยที่ 1.การปรับนโยบายเปิดประเทศที่เร็วของจีน ซึ่งไม่ได้เปิดเฉพาะกรณีผ่อนคลายการเดินทาง และการควบคุมโควิดเท่านั้น แต่ยังผ่อนคลายในเรื่องนโยบายการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวไทยที่จะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก โดยคาดว่าช่วยเพิ่มรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรประมาณ 67% ให้ดีขึ้น และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับตัวดีขึ้นด้วย
ขณะที่ปัจจัยที่ 2 คือภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิมในช่วงปลายปี ทั้งจากเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานต่ำกว่าที่คาด รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะชะลอตัวไม่รุนแรงเท่าที่คาดไว้เดิม โดยคาดว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะปรับขึ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในไม่ช้านี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
“ธปท.ปรับประมาณการการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในปีนี้ และปีหน้าขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน โดยคาดปีที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวรวม 11.1 ล้านคน ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 25.5 ล้านคน และปีหน้า 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านคน ซึ่งส่วนนี้เป็นปัจจัยบวกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกยอมรับว่า การขยายตัวของเดือน ธ.ค.65 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จะต้องลุ้นกันว่าทั้งปีตัวเลขการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 1% ตามที่ ธปท.คาดไว้หรือไม่”
นายปิติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเศรษฐกิจคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากที่ประมาณการไว้ 3.7% เล็กน้อย จากผลดีของนักท่องเที่ยวจีนแต่อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เพราะยังมีภาคส่งออกมาชะลอไว้ โดยการส่งออกปีนี้มีแนวโน้มชะลอลง แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า
“ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง โดยคาดว่าจะปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ได้ในช่วงปลายปีนี้ แต่ภาพรวมเงินเฟ้อโดยรวมยังไม่อยู่ในระดับที่เราพอใจ เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง และมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง และอาจจะส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้น อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด”
ส่วนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่ค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า มีผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องขณะที่โลกชะลอลง โดยตั้งแต่ต้นปีจนขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า 4-5% ซึ่ง กนง.มองว่ายังไม่แตกต่างจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แต่เป็นจุดหนึ่งที่ ธปท.จับตาอย่างใกล้ชิดเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและภาคธุรกิจของไทย ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวม กนง.จับตาใน 3 เรื่องคือ ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ผลดีจากการเปิดประเทศของจีนว่าจะเป็นไปตามที่คาดแค่ไหน และจับตาการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อของผู้ประกอบการที่จะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการดูแลเงินเฟ้อ ธปท.ยังคำนึงถึงการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้าเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ชัดเจนขึ้น อย่างไร ก็ตาม หากดูจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR มากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี หรือ MRR แสดงให้เห็นว่า ยังช่วยดูแลครัวเรือนกลุ่มเปราะบางให้สามารถรับมือกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้อยู่ และในระยะต่อไป
คาดว่ารายได้ของกลุ่มภาคบริการที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้รายได้กลุ่มเปราะบางสูงขึ้น รับมือกับค่าครองชีพได้ดีขึ้นด้วย.