ธปท.ประกาศค้านการพักชำระหนี้ มั่นใจปีหน้าไทยโตสวนทางเศรษฐกิจโลกถดถอย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ประกาศค้านการพักชำระหนี้ มั่นใจปีหน้าไทยโตสวนทางเศรษฐกิจโลกถดถอย

Date Time: 17 ธ.ค. 2565 06:10 น.

Summary

  • ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฝ่ากระแสโลกถดถอย โตต่อเนื่อง 3.7% จากการฟื้นตัวของการบริโภคและท่องเที่ยว ประกาศลั่นไม่เห็นด้วยกับการพักชำระหนี้ จะยิ่งสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ผู้ว่าการธปท.ยืนยัน ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฝ่ากระแสโลกถดถอย โตต่อเนื่อง 3.7% จากการฟื้นตัวของการบริโภคและท่องเที่ยว ประกาศลั่นไม่เห็นด้วยกับการพักชำระหนี้ จะยิ่งสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้เพราะหนี้ไม่หายไป ส่วนหนี้ครัวเรือนต้องแก้เฉพาะจุดอย่าแก้ไขแบบปูพรม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาของวารสารการเงินธนาคาร “Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge” ว่า ในปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับความท้าทาย โดยความท้าทายหลักมาจากเศรษฐกิจโลก มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอตัว มาจากการที่ธนาคารหลักของโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกัน และมีความเสี่ยงวิกฤติโควิด และปัจจัยลบอื่นๆ

“เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่มาจากหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด ทำให้ผลกระทบมีความหลากหลาย บางคนอาจรู้สึกว่ากระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงจากเศรษฐกิจประเทศหลักชะลอ บางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น หรือบางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า จากเศรษฐกิจจีนที่มีนโยบายการล็อกดาวน์ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน สะท้อนว่ารอบนี้ความเสี่ยงและผลกระทบมาหลายมิติ และปีหน้าความเสี่ยงเหล่านี้ยังอยู่”

ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงเรื่องตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวน โดยสาเหตุหลักมาจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างเร็วและแรงในหลายประเทศหลัก ประเทศที่มีหนี้ที่สูงก็จะเจอปัญหา ตัวอย่างที่เห็นคือตลาดที่คนเคยมองว่าปลอดภัย เช่น ตลาดอังกฤษ ก็เริ่มมีปัญหา สำหรับประเทศไทยมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกจะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดย ธปท. คาดว่าส่งออกปี 66 จะโตเพียง 1% อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะถูกเอื้อด้วยการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมาจากรายได้ที่มีการฟื้นตัว รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยสนับสนุน โดย ธปท.คาดว่า ในปี 65 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 10 ล้านคน ปี 66 ที่ 20 ล้านคน ซึ่งแรงงานไทย เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

“คาดว่า ปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3% และปี 66 ประมาณ 3.7% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในปี 65 จะกลับมาเกินดุล ในปี 66 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นปัญหา”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ในระยะสั้น โจทย์แรก คือทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ โดยสิ่งที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ต่อเนื่อง คือ เงินเฟ้อขยับเพิ่มสูงขึ้น และไม่กลับสู่ระดับที่เหมาะสม ระบบการเงินหยุดชะงัก ซึ่งการปรับดอกเบี้ยในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งพยายามลดมาตรการภาคการเงินในลักษณะปูพรม ทำมาตรการเฉพาะจุดให้มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่กลับมาใกล้เคียงปกติ

“ผลที่ได้คือเงินเฟ้อที่เคยแตะจุดสูงสุดที่กว่า 7% ค่อยๆทยอยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% โดย ธปท.คาดว่าจะเข้ากรอบ 1-3% ในครึ่งหลังของปี 66 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ และเสถียรภาพระบบการเงิน ปัจจุบันยังทำงานได้ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้ ธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง”

ในระยะยาว ธปท.ต้องดูแลการดำเนินนโยบายให้ถูกหลักการ เนื่องจากการทำผิดหลักการจะซ้ำเติมปัญหาและสร้างผลกระทบระยะยาว เช่น เรื่องหนี้ครัวเรือน ไม่เหมาะสมกับมาตรการแบบปูพรม เพราะอาจสร้างแรงจูงใจที่ผิดตามมา และไม่ควรสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ เช่น การพักหนี้ เนื่องจากไม่ได้ทำให้ภาระหนี้หายไป รวมทั้งต้องไม่ทำมาตรการที่กระทบโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในอนาคต เช่น มาตรการที่กระทบกับข้อมูลต่างๆ เช่น ลบประวัติเครดิตบูโร ในปัจจุบันกำลังผลักดันแก้ปัญหาหนี้ให้ครบวงจรมากขึ้นทั้งหนี้เดิม และระยะข้างหน้า โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน และ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยหนี้ใหม่ คือ การให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระหนี้มากเกินไปให้กับลูกหนี้ แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลา การแก้ปัญหาหนี้จะดูเรื่องหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับเรื่องรายได้ด้วย เพราะถ้ารายได้ไม่มา การแก้หนี้ก็จะไม่จบ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ