นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่จะมีการประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงินในวันที่ 1 ม.ค.68 นั้น ทำให้ ธ.ก.ส. ต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับ โดยเฉพาะวงเงินสำรองที่ต้องตั้งสำรองไว้อีก 100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันสำรองอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท คิดเป็น 298 % ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งการตั้งสำรองดังกล่าว เพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน
“การตั้งสำรองไว้สูงก็จะเป็นต้นทุนที่สูงของ ธ.ก.ส. แต่ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชี และหากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางบัญชีฉบับที่ 9 ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ต้องหารือกันระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และกระทรวงการคลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จากเดิมจะประกาศใช้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แต่สมัยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ลงนามในคำสั่ง ให้เลื่อนการบังคังใช้กับสถานบันการเงินภาครัฐ ออกไป 5 ปี ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป”
นายเสกสรรค์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงระบบไอทีทั้งระบบ เพื่อปรับปรุงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และนำไปสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้ง ทั้งระบบหลังบ้านและระบบให้บริการลูกค้า ทั้งการแบ่งกลุ่มลูกค้า การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นผู้รับลงทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น เพื่อนำมาปรับใช้กับการจ่ายเงินสินเชื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงศึกษาการพัฒนาการบริการ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการให้บริการมากยิ่งขึ้น ทั้งผ่านมือถือ ผ่านตู้เติมเงิน หรือร้านค้าโชห่วยในหมู่บ้าน รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อมุ่งเป้าเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย.