กนง.เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เงินเฟ้อปีหน้ายังพุ่ง-ธปท.ลดโตเศรษฐกิจไทย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กนง.เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เงินเฟ้อปีหน้ายังพุ่ง-ธปท.ลดโตเศรษฐกิจไทย

Date Time: 1 ธ.ค. 2565 07:01 น.

Summary

  • กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.25% ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.2% และปีหน้าเหลือ 3.7% พิษเศรษฐกิจโลกทรุด อึ้ง! ค่าไฟพุ่งดันเงินเฟ้อปีหน้าพุ่งพรวดแตะ 3%

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.25% ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.2% และปีหน้าเหลือ 3.7% พิษเศรษฐกิจโลกทรุด อึ้ง! ค่าไฟพุ่งดันเงินเฟ้อปีหน้าพุ่งพรวดแตะ 3% แต่ยืนยันดอกเบี้ยยังขึ้นค่อยเป็นค่อยไป แนะครัวเรือนเปราะบางรับต้นทุนพุ่ง แนะคิดก่อนกู้เงิน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังเป็นทิศทางที่เหมาะสม โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 เข้าสู่การฟื้นตัวอย่างชัดเจน และในช่วงสิ้นปีมูลค่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขึ้นไปอยู่ในจุดเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกระทบต่อการส่งออก โดย ธปท.ติดตามความเสี่ยงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักที่อาจจะชะลอตัวมากกว่าคาด และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่มีความไม่แน่นอน

ลดจีดีพีไทยรับเศรษฐกิจโลกทรุด

นายปิติกล่าวต่อว่า ในการประชุม กนง.ครั้งนี้ กนง.ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัว 3.2% ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ 3.3% ในครั้งก่อนหน้า ขณะที่ปรับลดเศรษฐกิจปี 66 ลงเหลือ 3.7% จาก 3.8% ในครั้งก่อนหน้า โดยได้ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ จากที่คาด 9.5 ล้านคน เป็น 10.5 ล้านคน และปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวปีหน้าเป็น 22 ล้านคน จาก 21 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกสินค้าของปีนี้ลงจาก 8.2% เหลือ 7.4% ขณะที่ปรับลดมูลค่าการส่งออกปีหน้าลงอีกจากที่คาดการณ์ไว้ 1.1% เหลือ 1% โดยเหตุผลหลักมาจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีหน้า ซึ่งการลดลงของเศรษฐกิจโลกนี้ ธปท.ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้าแล้วในระดับหนึ่ง

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจากต้นทุนค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ ธปท.ปรับขึ้นการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าขึ้นเป็น 3% จาก 2.6% ในการประมาณการครั้งก่อน และคงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ไว้ที่ 6.3% เช่นเดียวกับปรับขึ้นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโดยขึ้นประมาณการปีหน้าเป็น 2.5% จาก 2.4% ที่คาดไว้เดิม แต่คงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไว้ที่ 2.6%

“แม้อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมเดือนต่อเดือนอัตรายังคงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของไทยยังอยู่ในเป้าหมาย โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะกลับเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินหรือ 3% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า ช้ากว่าที่คาดการณ์เดิมที่ไตรมาสที่ 2 นิดหน่อย แต่ในภาพรวมอยากให้มองว่า เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดแล้ว และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อปีหน้า ไม่ได้ทำให้ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.เปลี่ยนไป หรือขึ้นยาวนานกว่าเดิม”

แบงก์พาณิชย์เตรียมส่งผ่านดอกเบี้ย

ต่อข้อถามถึงการส่งผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นายปิติ กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ในช่วงอัตราดอกเเบี้ยนโยบายขยับขึ้น ธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มส่งผ่านต้นทุนอัตราดอกเบี้ยไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลัก หรือดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท M ต่างๆ แต่คาดว่าจะยังไม่ได้ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นทั้งหมดทีเดียว แต่จะขึ้นกับต้นทุนของแต่ละธนาคาร โดยที่ผ่านมาได้มีบางธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ลูกหนี้รายย่อยน่าจะได้รับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายใหญ่ เช่น ลูกหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าและยังเอื้อต่อการระดมทุน ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ลูกหนี้จะต้องคิดให้ดีว่า หากจะกู้เพื่อบริโภคหรือลงทุนในระยะต่อไป จะต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง และความคุ้มค่าของการลงทุนด้วย ซึ่งความเปราะบางของภาคครัวเรือนนี้ทำให้ ธปท.ยังคงเน้นการใช้มาตรการแก้ไขหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวต่อเนื่อง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแม้จะทำต่อเนื่อง แต่การขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังมีความจำเป็น”

นายปิติ กล่าวต่อถึงค่าเงินบาทในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ที่ผ่านยังคงผันผวนสูง โดยมีทั้งอ่อนค่า และแข็งค่าขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น 6.8% อยู่กลางๆของภูมิภาค โดยมองว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลกส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินของไทยจำกัด ขณะที่มองว่า การเก็บภาษีจากการขายหุ้นไม่ได้กระทบต่อภาพรวมตลาดทุนของไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่พื้นตัวต่อเนื่อง การลงทุนในเศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีขายหุ้น แต่ถ้านักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจน่าลงทุนก็ยังคุ้มค่าและไม่กระทบให้เกิดเงินทุนไหลออกจากน่าเป็นห่วง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ