ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตจำนวนมาก ล่าสุด สถาบันการเงินของรัฐได้ระดมออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย
โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเปิดให้ลูกค้าพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 10-100% และกรณีดอกเบี้ยคงที่ลดชำระเงินงวด 50% ขณะเดียวกัน ยังให้กู้ฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก หลังจากนั้นคิด 0.85% ต่อเดือน ผ่อนนาน 3-5 ปี พร้อมกับไม่ต้องผ่อน 3 เดือนแรก รวมถึงยังมีสินเชื่อเคหะเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน
ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีแนวทางดูแลเกษตรกรได้รับความเสียหาย ด้วยการผ่อนผันชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีจะได้รับชดเชยความเสียหาย นอกจากนี้ยังออกสินเชื่อช่วยฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นดอกเบี้ย 0% 6 เดือน วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ลบ 2
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พิบัติ ปี 65 กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาช่วยเหลือตามระดับความเสียหาย 7 มาตรการ แก่ลูกค้าได้รับผลกระทบพายุดีเปรสชันโนรู ลดเงินงวด 50% ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ปลอดหนี้ บางส่วนจ่ายสินไหมเร่งด่วน เป็นต้น
ขณะที่นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ออกมาตรการช่วยเหลือ 2 เพิ่ม 3 ช่วย โดยเพิ่มวงเงินกู้ซ่อมเครื่องจักรหรือโรงงานสูงสุด 2 ล้านบาท เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ช่วยลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมช่วยคืนดอกเบี้ยจ่าย 2% รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกตลอดทั้งอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่อง.