นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ก.ย.ว่า เท่ากับ 107.70 เมื่อเทียบกับ 101.21 ของเดือน ก.ย.2564 ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 6.41 % ชะลอตัวลงจากเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่สูงถึง 7.86% ส่วนเมื่อเทียบกับดัชนีเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ 107.46 ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.22% และดัชนีเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.17% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 103.73 เมื่อเทียบเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.09% แต่เมื่อเทียบเดือน ก.ย. 2564 สูงขึ้น 3.12% ชะลอลงจากเดือน ส.ค. ที่สูงขึ้น 3.15% ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 2.26%
“เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย.ปีนี้ เทียบเดือน ก.ย.2564 เพิ่มในอัตราชะลอลง เป็นเพราะราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน เครื่องประกอบอาหารชะลอลง ขณะที่ฐานดัชนีที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน ก.ย.2564 อยู่ระดับสูง แต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาสินค้าและบริการโดยรวม ยังคงสูงกว่าเดือน ก.ย.2564 จากการทยอยปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนในช่วงก่อนหน้า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง และความต้องการซื้อสินค้า ในประเทศที่ดีขึ้น มีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอตัวตามที่คาดการณ์ไว้”
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม 6.41% เป็นผลจากราคาสินค้า กลุ่มพลังงาน ขยายตัว 16.10% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ยังสูงขึ้นกว่าปีก่อน, อาหารสด ขยายตัว 10.97% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด และผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง, อาหารสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ที่แม้ราคาชะลอตัว แต่ยังสูงกว่าปีก่อนตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง
“แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี นี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 ตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งในประเทศ หลังราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกลดลง รวมถึงมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ที่อาจมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ความต้องการซื้อในประเทศที่ดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี และคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะขยายตัว 5.5-6.5% โดยมีค่ากลางที่ 6% สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจอื่นๆของไทย”.