นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 37.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุ 38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และทันทีผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเสียงเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.00% เกิดแรงเทขายเงินบาท จนค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักสุดลงมาแตะ 38.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนกระเตื้องขึ้นมายื่นที่ 38.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดการเงินประเมินว่า มติ กนง.ในครั้งนี้ขึ้น จะมีกรรมการ 2 คน ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งเป็นไปในทิศทางของธนาคารกลางทั่วโลกที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75% เพื่อช่วยพยุงค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าลง
ขณะที่ทิศทางของค่าเงินบาท ในระยะสั้นๆยังคงอ่อนค่าและเป็นไปตามทิศทางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37.00-39.00 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะอ่อนหรือแข็งค่าขึ้นมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้างแต่ไม่มีนัยสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวตัดสินเดินทางบนความต้องการเดินทางและประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่าปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว หรือการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกิดขึ้นจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าเงินบาทที่อ่อนจะช่วยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯจะมีมูลค่าถูกลงในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ.