เงินบาทวูบ! เฟดป่วนค่าเงินโลก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เงินบาทวูบ! เฟดป่วนค่าเงินโลก

Date Time: 27 ก.ย. 2565 06:57 น.

Summary

  • ค่าเงินบาทวันที่ 26 ก.ย.65 ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเปิดตลาดที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นมีแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าที่สุดลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 26 ก.ย.65 ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเปิดตลาดที่ 37.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นมีแรงเทขายจนเงินบาทอ่อนค่าที่สุดลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 37.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองกรอบสัปดาห์นี้อยู่ที่ 37.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากสัปดาห์ก่อนค่าเงินปอนด์อ่อนค่าในรอบ 37 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไปแตะ 37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลติดตามอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งกระทรวงคลังได้สอบถามถึงภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งไม่ได้มีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษแบบมีนัยสำคัญ ส่วนกรอบเงินเฟ้อที่หลุดกรอบที่กำหนดไว้นั้น ได้หารือกันเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้จะหลุดกรอบไปแล้วก็ตาม โดยมาตรการการเงินขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่าจะดูแลอย่างไร ส่วนต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนใหญ่ กระทรวงการคลังได้นำมาตรการภาษีเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆก็มีการควบคุมราคาขายปลีก รวมถึงการนำเข้าสินค้าบางตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพราะหากขึ้นแรงหรือเร่งดอกเบี้ยให้สูงขึ้นมากเกินไปจะทำให้ทั้งเอสเอ็มอี และประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยอาจเติบโตได้ต่ำกว่า 3% และยังมีปัญหาเรื่องหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลตามมา ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไม่เกิน 37.5-38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะไตรมาสสุดท้ายของปี การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาได้ ขณะที่การส่งออกยังเดินหน้าโตได้ต่อเนื่อง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯไหลกลับเข้ามาทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เชื่อว่า ธปท.จะดูแลไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าต่ำกว่า 37.5 บาท แต่ต้องดูแรงกดดันต่างๆด้วย หวังว่าจะไม่มีอะไรมากดดันเงินบาทแรงจนอ่อนค่าเกินกว่า 38 บาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ