กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ขึ้นสู่ระดับ 3.00–3.25% เป็นไปตามที่บรรดากูรูและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
แต่ปมสำคัญที่สร้างความแตกตื่น กลายเป็นเมื่อเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไปตลอดปีหน้า คาดว่าจะขึ้นสู่ระดับ 4.60% พร้อมคงนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อไปจนถึงปี 2567 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ โดยไม่สนว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว สวนทางกับ บรรดาผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ปีหน้าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงบ้าง ทำให้ตลาดเงินโลกเกิดความปั่นป่วนขึ้นมาทันที เงินสกุลหลักๆอ่อนค่าลงรุนแรง!!!
เห็นได้จากค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 37 ปี เงินเยนของญี่ปุ่น อ่อนค่าที่สุดในรอบ 24 ปี เงินยูโรอ่อนค่า ในรอบ 20 ปี เงินวอนของเกาหลีใต้ อ่อนค่าในรอบ 14 ปี ขณะที่เงินรูปีของอินเดีย และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนเงินบาทของไทย เคลื่อนไหวไปตามทิศทางค่าเงินทั่วโลก อ่อนค่าลงมาแตะ 37.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี
ผลกระทบอันเกิดขึ้นกับสกุลเงินสำคัญทั่วโลก มีสาเหตุจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย พร้อมชี้นำอีกว่าดอกเบี้ยยังต้องขึ้นต่อไป ทำให้กระแสเงินลงทุนทั่วโลกไหลกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่า นักลงทุนแห่เทขายเงินสกุลอื่นๆ เพื่อซื้อดอลลาร์สหรัฐฯแทน
การหยุดยั้งกระแส เงินทุนไหลออกอันเป็น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินอ่อนค่าลงนั้น ธนาคารกลางสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เพื่อดึงดูดเงินลงทุนเอาไว้หรือใช้วิธีแทรกแซงค่าเงิน เห็นได้จากทันทีที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางอังกฤษ ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทันที ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ทุ่มเงินเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนแทน
ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของประเทศไทย ในวันที่ 28 ก.ย.2565 บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.0% ต่อด้วยการประชุมกนง.อีก 2 รอบของปีนี้ ซึ่งน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบละ 0.25% เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถใช้กลไกคุมการไหลเข้าออกของเงินอื่นๆ เช่น กำหนดวงเงินการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศของคนไทย ซึ่งสวนทางกับช่วงค่าเงินบาทแข็ง ที่ ธปท.ออกประกาศให้คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศแบบไม่จำกัด เพื่อช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท
กับอีกกระแสที่มาแรง กรณีรัฐบาลแสดงจุดยืนต้องการให้เงินบาทแข็งค่าไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กลัวซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 พร้อมให้กระทรวงการคลังไปหารือกับ ธปท.
ก่อนอื่นต้องบอกว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวังนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่หากมองย้อนกลับไปในปี 2540 ภาคเอกชนไทยมีภาระหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ และถูกเรียกหนี้คืนจนเกิดปัญหาล้มละลาย ลามไปถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของไทย ที่เป็นผู้ค้ำ ประกันหนี้ ถูกทางการเข้าแทรกแซงหรือเพิ่มทุนจดทะเบียน
ประกอบกับในช่วงนั้น ประเทศไทยคงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อถูกเก็งกำไรค่าเงิน ธปท. ก็ต้องเข้าไปพยุง แทรกแซงค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนเงินทุนสำรองหมด แถมมีภาระหนี้อีก เมื่อ ธปท.ประสบปัญหา ขาดทุน ก็ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวจนมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สถานะการเงินของไทยในปัจจุบัน แตกต่างกับปี 2540 เห็นได้จากภาระหนี้ต่างประเทศของไทยมีน้อย และค่าเงินบาทลอยตัว ไม่ต้องทุ่มเงินไปพยุงค่าเงินบาท ที่สำคัญเงินทุนสำรองมีเพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศ
การอ่อนหรือแข็งค่าของเงินบาท ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจุบันไม่สามารถกำหนดได้ว่าค่าเงินบาทต้องอ่อนค่าไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่านั้นเท่านี้ ธปท.ทำได้เพียงแทรกแซงเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยลดความผันผวน ไม่ให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินในภูมิภาค
บรรดากูรูในวงการการเงิน ประเมินว่า การส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยแบบร้อนแรงของเฟด มีโอกาสทำให้เงินบาท อ่อนค่าลงไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และหาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ค่าเงินบาทก็จะกลับมายืนที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่สำคัญในช่วงนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังมีทิศทางเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ส่วนเงินสกุลหลักๆทั่วโลก รวมทั้งเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ประเทศไทยไม่ควรฝืนกระแส เพียงดูแลเอกชนไทยไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน
หากสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติขนเงินมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เงินบาทของไทยก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เอง.
ประพัฒน์ เนตรอัมพร