ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานการบริหารหนี้ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จากการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยหลังจากที่ได้รับโอนหนี้มาจากรัฐบาลจำนวน 1.138 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2555 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2565 หรือครบรอบ 10 ปีครึ่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูได้ชำระคืนหนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 783,070.12 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้นไปแล้วทั้งสิ้น 438,954.39 ล้านบาท และชำระคืนดอกเบี้ย 344,103.13 ล้านบาท
โดยแหล่งเงินในการชำระคืนมาจากสินทรัพย์ในบัญชีผลประโยชน์ของทุนสำรองเงินตรา 48,947.39 ล้านบาท เป็นเงินจากเงินนำส่งของสถาบันการเงินทั้งสิ้น 497,235.73 ล้านบาท และเป็นเงินจากการขายสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯอีก 236,887 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ดังกล่าว ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ลดลงเหลือทั้งสิ้น 685,004.50 ล้านบาท โดยเป็นหนี้เงินต้นจากการออกพันธบัตร FIDF1 จำนวน 276,153 ล้านบาท และเป็นเงินต้นจากการออกพันธบัตร FIDF3 จำนวน 408,851.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ลดอัตราการนำส่งเงินจากสถาบันการเงินจากเดิม 0.46% ของวงเงินฝากทั้งหมด ลงเหลือ 0.23% ของวงเงินฝากทั้งหมด เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนได้ดีขึ้น โดยมีผลจนถึงสิ้นปี 2565 นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น ธปท.ได้ปรับอัตราการนำส่งเงินของสถาบันการเงินกลับขึ้นมาเป็น 0.46% ในปี 2566 คาดว่าจะช่วยให้การชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯทำได้มากขึ้น และช่วยลดหนี้สินในส่วนนี้ลงได้.