ติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ ธปท.มองครึ่งปีหลังฟื้นตัว-เตือนระวังเงินไหลออก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ ธปท.มองครึ่งปีหลังฟื้นตัว-เตือนระวังเงินไหลออก

Date Time: 28 ก.ค. 2565 07:01 น.

Summary

  • ธปท.มองเศรษฐกิจเดือน ก.ค.และครึ่งหลังของปีฟื้นต่อเนื่อง หลังไตรมาส 2 เศรษฐกิจฟื้นขยายตัวมากกว่า 3% มองเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง เตือนสัปดาห์ระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.มองเศรษฐกิจเดือน ก.ค.และครึ่งหลังของปีฟื้นต่อเนื่อง หลังไตรมาส 2 เศรษฐกิจฟื้นขยายตัวมากกว่า 3% มองเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง เตือนสัปดาห์ระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน นักลงทุนหนีออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดครึ่งปีขาดดุลกว่า 10,000 ล้านเหรียญฯ ติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยง ราคาสินค้าพุ่ง ส่งออกชะลอ โควิดกลับมาระบาดรุนแรง

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มิ.ย. และไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 21.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.5% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบไตรมาสที่ 1 กับไตรมาสที่ 2

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยเป็นผลจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต โดยในเดือน มิ.ย.เทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวลดลง 0.2% ขณะที่หากเทียบไตรมาสแรกกับไตรมาสที่ 2 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% ทั้งนี้ ภาคการส่งออกสินค้าเป็นอีกภาคที่ปรับลดลงบ้างหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า โดยแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เดือน มิ.ย.ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.5% อย่างไรก็ตาม หากเทียบไตรมาสแรกกับไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4%

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตลาดแรงงานในภาพรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย.ขาดดุลน้อยลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง โดยในเดือน มิ.ย.ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาสที่ 2 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 10,800 ล้านเหรียญฯ ด้านดุลการชำระเงินเดือน มิ.ย.ขาดดุล 3,300 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีขาดดุล 7,300 ล้านเหรียญฯ

“อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่แนวโน้มในเดือน ก.ค.ยังเป็นการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยในช่วงสั้นๆ ประมาณสัปดาห์หน้าอาจจะยังเห็นสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่ หลังจากตลาดฯคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อมุมมองนักลงทุนต่อภาพเศรษฐกิจและภาพการเงิน โดยนักลงทุนยังคงกังวลความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยสหรัฐฯที่จะสูงขึ้นแต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้นักลงทุนปรับตัวและเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะสั้น โดยเฉพาะทยอยออกจากประเทศที่ถือเป็นการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดเกิดใหม่เข้าไปที่ประเทศตลาดปลอดภัย แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นประเด็นที่น่าเป็นกังวล”

น.ส.ชญาวดีกล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.ยังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีหลังยังจะได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 3% เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องติดตาม 3 ปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป คือ ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้างและราคาสินค้า 2. ผลกระทบต่อการส่งออกจากกำลังซื้อของต่างประเทศที่อาจชะลอตัวลง และ 3. ผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะสูงขึ้นในระยะต่อไป และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ส่งผลให้การบริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยคาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท และเป็นอุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) 6 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 0.48 % ขณะที่เดือน มิ.ย.อยู่ในระดับทรงตัวอยู่ที่ระดับ 98.05 และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.81 ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีเอ็มพีไอในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แบบค่อยเป็นค่อยไป โดย สศอ.ได้ประมาณการดัชนีตลอดทั้งปีนี้จะขยายตัว 1.5-2.5% และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2-3%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ