คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% หวั่นจุดระเบิดให้เศรษฐกิจถดถอย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% หวั่นจุดระเบิดให้เศรษฐกิจถดถอย

Date Time: 26 ก.ค. 2565 14:25 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • TISCO ESU คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในวันที่ 27 ก.ค. 65 นี้ ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจฟุบ หวั่นจุดระเบิดเศรษฐกิจถดถอย 

Latest


TISCO ESU คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในวันที่ 27 ก.ค. 65 นี้ ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจฟุบ หวั่นจุดระเบิดเศรษฐกิจถดถอย 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU กล่าวว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed วันที่ 27 ก.ค. 65 นี้ คาดว่าที่ประชุมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง และการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.75% จากนั้นในเดือน ก.ย.จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง

โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.50% และลดลงสู่การปรับขึ้นในอัตราปกติที่ 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปีในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ทำให้สิ้นปี 2565 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.5% ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาด วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นรอบที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอย 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงส่งสัญญาณให้นักลงทุนตระหนกอย่างต่อเนื่อง เช่น ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปี และระยะสั้น 2 ปี  ซึ่งสามารถเตือนการเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ล่วงหน้าได้ทุกครั้ง ก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น ยอดขายบ้าน ยอดค้าปลีก ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่น ที่มักเป็นดัชนีชี้น้ำ Recession ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็เริ่มส่งสัญญาณหดตัวอย่างชัดเจน

ขณะที่เศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลกยังมีความเสี่ยงสูง ทั้งในจีนซึ่งยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการ zero covid และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยุโรปที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งอาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม 

สำหรับผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจถดถอยต่อตลาดหุ้นนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า จะกระทบใน 2 เรื่อง คือ 1. ผลกระทบด้านมูลค่าหุ้น (Valuation) หรืออัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward P/E) ซึ่งถูกกดดันผ่านนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และ 2. คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ซึ่งถูกปรับลดตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง  

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี ค่า Forward P/E ของ S&P500 ปรับลดลงมาแล้วถึง -28% ใกล้เคียงกับการปรับลดในอดีต ทำให้มองว่า Valuation ที่ระดับปัจจุบันน่าจะสะท้อนความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นไปมากแล้ว ทำให้ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นจาก Valuation น่าจะจำกัดต่อจากนี้ แต่คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปรับลงได้อีกในระยะข้างหน้าตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์  

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้จะมองว่าการปรับลดคาดการณ์กำไรจะเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นยังอยู่ในขาลง แต่ด้วย Valuation ที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมขึ้น ทำให้มองว่าโอกาสปรับลง หรือ Downside ของตลาดหุ้นน่าจะเริ่มจำกัด จึงยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงแม้ในภาวะ Recession อย่างกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) ซึ่งกำไรโตเฉลี่ยถึง 8% ในช่วงที่เกิด Recession สวนทางกับกำไรของตลาด (S&P500) ซึ่งหดตัวกว่า -25%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของกำไรในระยะยาว (CAGR) พบว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กำไรของกลุ่ม Healthcare ขยายตัวถึง 10% ต่อปี สูงกว่าตลาดหุ้นรวม (S&P500) ที่ 7% ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในอนาคต ตามกระแสเมกะเทรนด์สังคมสูงอายุที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเติบโตของกำไรในระยะยาวในช่วง 30 ปี อยู่ที่ 10% ต่อปีถึงแม้ในระยะสั้น ราคาอาจถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์กำไร แต่น่าจะถูกชดเชยด้วย Valuation ที่น่าจะเริ่มคลี่คลายลง หลังตลาดตอบรับต่อความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินไปมากแล้ว ทำให้มองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้โดนเทขายอย่างหนัก น่าจะเริ่มกลับมาโดดเด่นและปรับขึ้น หรือ Outperform ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ