นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการศึกษาของฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไป 2-2.75% ต่อปีภายในสิ้นปี 66 หรือเพิ่มขึ้น 1.5-2.25% จากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน ภายใต้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต (ที่ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 100% MLR จะขึ้น 60%) พบว่าหากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขยายตัวเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมิน ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนยังสามารถชำระหนี้ ที่เพียงพอรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้กรณีที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปที่ 2.75% ต่อปี
และจากการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน พบว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็น 2-4% ของต้นทุนธุรกิจ ขณะที่ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า โดยจากฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือน ธปท.พบว่าโดยเฉลี่ยภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็น 8% ของรายได้ครัวเรือนที่มีหนี้ ถือว่าสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นรูปตัวเค ถูกกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง การค้า วัสดุก่อสร้าง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ทำให้ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยพร้อมรับมือวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ได้.