เงินบาทไม่ใช่เป้าหมายเก็งกำไร ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งฉุดบาทอ่อน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เงินบาทไม่ใช่เป้าหมายเก็งกำไร ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งฉุดบาทอ่อน

Date Time: 9 ก.ค. 2565 05:15 น.

Summary

  • เกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (เหรียญสหรัฐฯ) โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 11% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า 7.6% สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าๆ

Latest

เศรษฐกิจไทย พ้นพงหนาม4 เครื่องยนต์ติดครบ ดัน GDP โตเกิน 3% เลือกตั้งสหรัฐ - สงคราม สร้างความผันผวน

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าใกล้ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯว่า เกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (เหรียญสหรัฐฯ) โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 11% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า 7.6% สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าๆ แต่เมื่อเทียบประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.7% แสดงว่าบาทยังมีความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลดีต่อการส่งออกไทย “การดูแลค่าเงินบาทคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ ดังนั้น ระดับราคาค่าเงินบาทไม่ได้กำหนดตายตัว จะปล่อยให้เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ และกลไกตลาด แต่ ธปท.จะดูแลไม่ให้กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ หากผันผวนผิดปกติ ธปท.จะชะลอความผันผวน”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย พบว่ายังแข็งแกร่ง ล่าสุด มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 97,000 ล้านบาท เป็นการไหลเข้าในตลาดทุน 104,000 ล้านบาท และไหลออกจากตลาดพันธบัตร 7,000 ล้านบาท มีทุนสำรองสูงถึง 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และ 3.35 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ไม่กังวลว่า เงินทุนจะไหลออกอย่างรุนแรง เพราะตลาดเงินโลกซึมซับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่วงหน้าแล้ว สะท้อนการไหลเข้า-ออกของเงินทุนขณะนี้แล้ว ยกเว้นจะมีปัจจัยลบใหม่ที่รุนแรงเพิ่มเติม ซึ่ง ธปท.จะจับตาใกล้ชิด

ส่วนที่เป็นห่วงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น ปัจจุบันขาดดุล 1% กว่าๆของจีดีพี ถือว่าไม่มาก หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น มีโอกาสขาดดุลลดลงได้ ส่วนที่มองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่า ลงอีก ธปท.มองว่ายังมีความผันผวนสูงมาก ผู้ทำธุรกิจต้องป้องกันความเสี่ยง “มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่นั้น สถานการณ์ของไทยขณะนี้ต่างจากปี 40 เพราะเราไม่ได้กำหนดค่าเงินบาทตายตัว แต่ปี 40 กำหนดตายตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับต่ำต่างกับปี 40 ที่ขาดดุล 8% ของจีดีพี หนี้ต่างประเทศน้อย พื้นฐานของไทยจึงไม่เข้าข่ายเก็งกำไร และ ธปท.ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อรักษาระดับราคา แต่จะทำเพื่อลดความผันผวนที่สูงเกินไปเท่านั้น”

ด้าน น.ส.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมองว่าไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป เพราะเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบการดูแลของ ธปท.คือ เงินเฟ้อระยะปานกลาง การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินเฟ้อระยะปานกลางอยู่ในเป้าหมาย และไม่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจมากเกินไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ