ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้คนตกงาน ไม่มีเงินไปชำระหนี้สิน ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการด้วยการให้สถาบันการเงินภาครัฐ เข้าไปช่วยเหลือทั้งพักชำระหนี้ ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยกระตุ้นเศรฐกิจนั้น ส่งผลให้สถาบันการเงินของภาครัฐ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ที่กู้สินเชื่อฉุกเฉิน มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้จัดกลุ่มลูกค้าตามความสามารถการชำระหนี้ทั้งหมด 12.47 ล้านสัญญา วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (สีแดง) 5.83 ล้านสัญญา มูลค่า 584,000 ล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างสูง (สีส้ม) 39,889 สัญญา มูลค่า 8,463 ล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) 5.3 ล้านสัญญา มูลค่า 714,000 ล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (สีเขียวอ่อน) 761,000 สัญญา มูลค่า 152,000 ล้านบาท และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (สีเขียวเข้ม) 474,000 สัญญา มูลค่า 125,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาหนี้เสีย รัฐก็จะเข้ามาช่วยเหลือราว 30% ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ปีนี้ ธ.ก.ส.จะดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นสีแดงอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูปรับโครงสร้างหนี้ให้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นให้ 50% และอีก 50% ปรับโครงสร้างหนี้จนกว่าลูกค้าจะสามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขสัญญาได้
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารออมสิน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.7% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 2.5% อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีความกังวลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐบาล เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ที่ต้องการเติมสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ซึ่งออมสินยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะมีสำรองไว้สูงราว 30,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายชดเชยความเสียหายกรณีเป็นหนี้เสียให้แต่ละโครงการ 30-50% ฉะนั้นจึงไม่น่ากังวลเช่นกัน.