รวมเด็ด 80 ปี ธปท.

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รวมเด็ด 80 ปี ธปท.

Date Time: 12 เม.ย. 2565 05:10 น.

Summary

  • หากเปรียบเป็นคนที่มีอายุ 80 ปี แน่นอนว่าจะต้องเป็นคนที่พร้อมด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ผ่านร้อนผ่านหนาว จุดสูงสุด ต่ำที่สุด คำชื่นชมและคำติฉินนินทามาไม่น้อย

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!


หากเปรียบเป็นคนที่มีอายุ 80 ปี แน่นอนว่าจะต้องเป็นคนที่พร้อมด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ผ่านร้อนผ่านหนาว จุดสูงสุด ต่ำที่สุด คำชื่นชมและคำติฉินนินทามาไม่น้อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นเช่นนั้น ครบรอบ 80 ปีในปีนี้ ธปท.จัดกิจกรรมโหมโรงด้วย งาน “เหลียวหลัง แลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท.” ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต แชร์ประสบการณ์จาก 6 อดีตผู้ว่าการ (ตามลำดับการดำรงตำแหน่ง) เริ่มจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ

บันทึกบทเรียนตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 วิกฤตการณ์การเมืองหลายครั้งหลายหน วิกฤติซับไพรม์ ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงสุดกว่า 147 เหรียญฯต่อบาร์เรล จนมาถึงวิกฤติโควิด–19 ใน ปัจจุบัน (สามารถฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/cd6v3BxfEQ/  )

จากงานเสวนา คำที่ได้ยินบ่อยจากทุกผู้ว่าการ คือ การทำหน้าที่เป็น “กองหลัง” ที่ต้องดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การรักษาความดีงามของ ธปท.ที่สั่งสมมา และการรักษาความเชื่อมั่นของประชาชน

ขณะที่ประสบการณ์ที่เหมือนจะเจอตรงกัน แต่แตกต่างกันไปในแต่ละบริบท ใครไม่เจอถือว่า “มาไม่ถึง” น่าจะเป็น “การถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย ความไม่พอใจของคนหลายๆ กลุ่มในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหา “ความเป็นอิสระ” ของ ธปท.”

ดังนั้น “การบ้าน” ที่ถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงิน ดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ระบบสถาบันการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และความพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เริ่มจากคำกล่าวของ อดีตผู้ว่าการชัยวัฒน์ “ธปท.จะต้องเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และหากมีความจำเป็นชัดเจนว่า เราต้องทำนโยบายที่ยาก นโยบายที่เข้มงวดที่คนอื่นเขาไม่ชอบ แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน”

ขณะที่ความเป็นอิสระของ ธปท.นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ฝากจุดยืนไว้ว่า “ธปท.จะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร ต้องฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น นโยบายการเงินต้องประสานกับการคลังเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ”

ม.ร.ว.จัตุมงคล ฝากแนวคิดให้ “ธปท.เชิญผู้มีความรู้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ช่วยประเทศชาติได้มาก และฝากข้อคิดในการทำงานในโลกวันนี้ว่า คนที่ชนะคือคนที่ชนะใจประชาชน”

สำหรับการบ้านของ ดร.ธาริษา ไม่ต้องการให้มุ่งเน้นแค่ระบบการเงิน โดยระบุว่า “แม้บทบาทของ ธปท.โดยหลักคือการดูแลนโยบายการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ที่สำคัญคือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากที่สุด ธปท.จึงต้องเป็นตัวช่วยให้เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานได้อย่างปกติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”

ส่วนคำแนะนำของ ดร.ประสาร คือ “ต้องสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้นำต้องมองไปข้างหน้า รู้เท่าทัน และปรับตัวเองได้ก่อนคนอื่นจะเปลี่ยนเรา”

ขณะที่ ดร.วิรไท มองว่า “ในเวลาที่เกิดวิกฤตินั้น ธปท.ต้องกล้าเข้าไปแก้ไขสิ่งที่บิดเบือนและจะเกิดปัญหาตามมา แม้บางเรื่องจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของ ธปท.โดยตรง และการคงความน่าเชื่อถือของ ธปท.ได้ คือ การที่เรายื่นมือไปช่วยแก้ปัญหาประชาชน”

ตบท้ายด้วย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ที่กล่าวปิดงานเสวนาว่า “ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนเร็ว...เราต้องมองไปข้างหน้าและ “ปรับ” องค์กรของเรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง...เพื่อให้ ธปท.สามารถยืนหยัดทำตามหน้าที่และพันธกิจในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับคนไทย

เช่นเดียวกับที่เราได้ทำตลอด 80 ปี...และการปรับนี้ทำไปเพื่อให้เรายังคงรักษา “แก่น” ที่จะนำพาระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศผ่านพ้นความท้าทายต่างๆที่เรากำลังเจอ และสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจการเงินประเทศให้เข้มแข็ง”

แค่โหมโรงก็ร้อนแรงแล้ว แต่ยังไม่จบเท่านี้ ล่าสุด ธปท.ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถมี “นโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้” โดยเปิดแข่งขัน Policy Hackathon ออกแบบนโยบายใน 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ ทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ การแก้ไขช่องโหว่ที่มีอยู่ในขณะนี้ การบริหารความเสี่ยง และการใช้งานจริง โดยจะมีเงินรางวัลให้ผู้ชนะรวมกว่า 3 แสนบาท

เปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 เม.ย.-16 พ.ค.ใครอยากออกแบบหรือมีนโยบายเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง และอาจจะถูกนำไปใช้งานจริงไม่ควรพลาด นอกจากนั้น ธปท.ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ในโอกาสครบ 80 ปีทยอยออกมาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปีขอให้รอติดตาม “ช็อตเด็ดๆ” กันได้ในตอนต่อไป.

ประอร นพคุณ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ