วันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้จัดงาน “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” (รับชมย้อนหลังได้ทาง https://fb.watch/cd6v3BxfEQ/ ) ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดตัวงานครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยได้รับเกียรติถ่ายทอดประสบการณ์จากอดีตผู้ว่าการหกท่าน ก่อนที่ผู้ว่าการท่านปัจจุบันจะกล่าวสรุปปิดงาน
ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ชั่วโมงอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์เชิงลึกที่ ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม พิธีกรบนเวที กล่าวว่า เป็น behind the scene หรือเบื้องหลังการถ่ายทำ ซึ่งผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะในเนื้อหาส่วนที่อดีตผู้ว่าการฝากการบ้าน จึงขอเรียนว่าบทความในวันนี้ขออนุญาตประมวลการบ้านในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ได้เป็นความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อบันทึกความประทับใจไว้สอนใจตนในวาระข้างหน้า
น่าสังเกตว่าแม้อดีตผู้ว่าการจะดำรงตำแหน่งภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความแตกต่างกันมาก ตลอด 25 ปี แต่การบ้านที่ผู้เขียนในฐานะลูกน้อง ลูกศิษย์ และแฟนคลับ เต็มใจรับดำเนินการต่อไปนั้น กลับมีประเด็นร่วมสำคัญ ดังที่ท่านผู้ว่าการเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวปิดงานว่า “แม้ว่ารูปแบบของความท้าทายจะเปลี่ยนไป แต่ “แก่น” ของการเป็นธนาคารกลางที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่มีมนุษย์ปุถุชนเป็นผู้เล่นยังคงเหมือนเดิม” โดยผู้เขียนขอสรุปการบ้านที่อดีตผู้ว่าการฝากไว้ด้วยคำสามคำ คือ ยืนหยัด ยืดหยุ่น และหยิบยื่น
ยืนหยัด ในความถูกต้องมีหลักการ บนฐานขององค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่รอบด้าน ดังที่ท่านผู้ว่าการชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ฝากให้ “กล้าที่จะทำนโยบายที่ยาก แต่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม” และท่านผู้ว่าการ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวว่า “ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง”
ยืดหยุ่น เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ยอมรับความเป็นจริง ตามที่ท่านผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวว่า “ต้องสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมาก คือ คนที่มาเกี่ยวข้องต้องสามารถบริหารปัจจัยต่างๆได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์” และท่านผู้ว่าการ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ฝากไว้ว่า “ถ้าผู้ว่าการ ธปท. ทำเรื่องเดียวได้ โดยเชิญผู้มีความรู้มาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นในงานสัมมนาประจำปีของ ธปท. จะเป็นกระบวนการสร้างความคิดหรือแก้ความคิด ช่วยประเทศชาติได้มาก”
หยิบยื่น การทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ประชาชน และธุรกิจ โดยคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ดังที่ท่านผู้ว่าการธาริษา วัฒนเกส ฝากว่า “พันธกิจของ ธปท. คือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนสิ่งที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายการเงินและเสถียรภาพทางการเงิน แต่ต้องทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจทุกตัวเดินหน้าต่อไปได้” และท่านผู้ว่าการวิรไท สันติประภพ กล่าวว่า “ในฐานะผู้ดูแลต้องกล้าเข้าไปเปลี่ยนแปลงความบิดเบือนหลายๆอย่าง รวมทั้งเวลาที่เกิดวิกฤติแม้บางเรื่องจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของ ธปท. โดยตรง แต่ถ้าไม่กล้าทำจะเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ”
การบ้านสามข้อนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงการเหลียวหลังอย่างลุ่มลึกเพื่อมองดูที่มาของแบงก์ชาติด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยังเป็นการต่อกันติดอย่างไร้รอยต่อจากรุ่นสู่รุ่นที่แม้จะต่างที่มาแต่ก็ร่วมร้อยเรียง เคียงข้างเศรษฐกิจการเงินไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการแลหน้าไปสู่การดำเนินการของการธนาคารกลาง ท่ามกลางความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง เปลี่ยนผ่านทั้งบทบาทของเงินในยุคดิจิทัล การเปลี่ยนขั้วอำนาจระเบียบโลก และกระแสเศรษฐกิจสีเขียว.