น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.และทิศทางในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ผลจากการระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป
ขณะที่การสำรวจการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมี.ค. พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดกันต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ตามราคาอาหารและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องผู้ประกอบการธุรกิจในภาคการผลิต และบริการ อยู่ในภาวะทรงตัว เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าคงทนที่ยังทรงตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค มองว่า สถานการณ์แย่ลงเล็กน้อย ตามมาตรการส่งเสริมการขายและมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐที่ลดลง รวมถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ โอมิครอนที่เร่งสูงขึ้นจนผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้าลง
“ธปท.มองว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และยังมีแรงส่งที่จะทำให้ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อ อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น และราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนั้น ยังต้องจับตาการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน”.