ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อสร้างผลพวงอย่างหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือ ปัญหาคอขวดในการผลิต (bottlenecks) เป็นภาวะที่ห่วงโซ่อุปทานทำงานสะดุด ในช่วงที่ความต้องการสินค้าทั่วโลกสูงขึ้นมากหลังคลาย ล็อกดาวน์ เรื่องนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ในภาคการผลิตทั่วโลกตลอดปีที่แล้ว และมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาคอขวดครั้งนี้มีต้นเหตุมาจากรูปแบบการใช้จ่ายของคนที่เปลี่ยนไปมากในช่วงวิกฤติโควิด รายจ่ายบริการหลายอย่างที่ปกติต้องเดินทางไปใช้บริการด้วยตัวเองลดลงมาก เช่น ท่องเที่ยว พักแรม สังสรรค์ในร้านอาหาร ตัดผม ผู้คนเปลี่ยนมาใช้จ่ายสินค้าคงทนเยอะขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะหลังเปิดเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่อั้นซื้อสินค้าและมีเงินออมสะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์เข้ม พร้อมกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นให้ใช้จ่าย
ขณะที่รายจ่ายบริการฟื้นตัวช้า เพราะคนยังมีระยะห่างทางสังคมอยู่มาก รูปแบบนี้ต่างจากวิกฤติในอดีตที่รายจ่ายบริการไม่ค่อยถูกกระทบและการบริโภคสินค้าคงทนก็ไม่ได้เร่งสูงผิดปกติหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นด้วยความที่สินค้าคงทนมีขั้นตอนการผลิตซับซ้อน เพราะธุรกิจกระจายห่วงโซ่การผลิตไปทั่วโลกเพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตลอดกระบวนการ ส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยการนำเข้าขนส่งสินค้าวัตถุดิบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สินค้าโภคภัณฑ์จากเหมือง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง เพื่อใช้ผลิตต่อขายในประเทศหรือส่งออกอีกที
เมื่อสินค้าต้นน้ำ/กลางน้ำผลิตไม่ทันใช้ อุปทานขาดแคลนไม่สมดุลกับความต้องการ ห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกติดขัด ราคาจึงสูงขึ้นตามมา แต่การลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทำได้ไม่ง่ายในสถานการณ์ระบาดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ยังมีการปิดโรงงานชั่วคราวหากเกิดการระบาดใหม่ และแรงงานผลิตขาดแคลนไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่ได้เป็นปกติ นอกจากปัญหาคอขวดในการผลิตแล้ว ยังมีปัญหาคอขวดโลจิสติกส์ ขนส่งทางเรือและอากาศ ความแออัดของท่าเรือและโกดังสินค้า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เห็นได้จากตัวชี้วัดปัญหานี้ เช่น ยอดคำสั่งซื้อค้างผลิต ระยะเวลาส่งมอบสินค้า และค่าขนส่งทางเรือ/อากาศที่สูงขึ้นมาก อีกทั้ง ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็เร่งกักตุนวัตถุดิบเปลี่ยนกลยุทธ์จากระบบ just–in–time แบบเดิมยิ่งซ้ำเติมปัญหาคอขวดโลกให้รุนแรงขึ้น
ประเทศที่พึ่งพาสินค้าวัตถุดิบต่างประเทศในการผลิตมาก ยิ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาคอขวดโลกมาก งานศึกษาต่างประเทศประเมิน
ผลกระทบไว้ว่า 1.ปัญหาคอขวดโลกนี้ส่งผลต่อเงินเฟ้อผู้ผลิตในสหรัฐฯ ภายใน 1 เดือน และหากปัญหานี้รุนแรงขึ้น 1% จะกดดันให้เงินเฟ้อผู้ผลิตสูงขึ้นราว 0.2-0.3% โดยผู้ผลิตสินค้าแต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต่างกันตามโครงสร้างการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลก สินค้าที่ถูกกระทบมาก เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะพื้นฐาน เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 2.หากไม่รวมปัจจัยคอขวดโลกที่เกิดขึ้น เงินเฟ้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้วจะต่ำลงกว่าที่เห็นเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ปัญหาคอขวดโลกจะกดดันให้เงินเฟ้อพุ่งไปอีกนานแค่ไหน? ดัชนีสะท้อนปัญหาคอขวดโลกเริ่มทรงตัวจากที่เร่งสูงมากในช่วงปลายปีก่อน ปัญหานี้อาจเกิดชั่วคราวและคลี่คลายภายในปีนี้ หากอุปทานปรับตัวสอดรับอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด ธุรกิจพลิกวิกฤติเป็นโอกาสปรับกลยุทธ์ลดการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตต่างประเทศ และลดการสั่งตุนวัตถุดิบมากผิดปกติ แต่มองอีกแง่ก็อาจมีเหตุทำให้ปัญหาคอขวดโลกลากยาวได้อยู่ ถ้าโควิดยังไม่จบ เช่น นโยบาย zero-covid ของจีนอาจกระทบฐานการผลิตที่เป็นห่วงโซ่การผลิตสำคัญของโลก รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่นับวันยิ่งรุนแรง อาจซ้ำเติมปัญหาคอขวดน้ำมันดิบและการขนส่งตามมาได้อีกค่ะ.