ธปท.ขยับเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาด  ปรับประมาณการเพิ่มจากเดิม 1.7%

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ขยับเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาด ปรับประมาณการเพิ่มจากเดิม 1.7%

Date Time: 12 ก.พ. 2565 06:35 น.

Summary

  • ธปท.เตรียมปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 65 สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.7% จากปัจจัยหลักราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 27% ราคาเนื้อสัตว์เพิ่ม 22% ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.เตรียมปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 65 สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.7% จากปัจจัยหลักราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 27% ราคาเนื้อสัตว์เพิ่ม 22% ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่เชื่อเงินเฟ้อปีนี้ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1–3% ยันไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามโลก เหตุเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวเปราะบาง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 65 ในช่วงการปรับประมาณการเศรษฐกิจสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปในเดือน ม.ค.และ ก.พ. โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะสูงกว่า 1.7% ที่ประมาณการไว้เดิม โดยพบว่าผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ กระทบกับผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง ทั้งในฝั่งของค่าครองชีพ และภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมนั้น คาดว่าจะยังอยู่ในระดับเดิมที่ 3.4% โดย การส่งออกจะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 ขณะเดียวกันการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางในต่างประเทศ เช่นสหรัฐฯ แม้จะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรบ้างแต่ไม่มากนัก

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทย ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.23% ในเดือน ม.ค.นั้น ยังคงเป็นการปรับขึ้นหลังจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารบางประเภท โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 27% ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 22% และยังไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้นในหลายๆ หมวดสินค้าเป็นวงกว้าง โดยพบว่า 188 รายการสินค้าจำเป็นที่อยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ปรับตัวลดลง ขณะที่จำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะกระทบต่อประชาชนใน 3 ด้านคือ 1.การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงานในช่วงต่อจากนี้ 2.การส่งต่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาขายสินค้าให้กับประชาชนของผู้ค้า ซึ่งขณะนี้เห็นราคาอาหารปรุงสำเร็จในบ้าน และนอกบ้าน ที่ปรับเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้น แต่มีสินค้า เช่น ข้าวสาร หรือค่าเล่าเรียนที่ลดลง ขณะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้า 3.แนวโน้มการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และตู้สินค้า

ขณะเดียวกัน การเข้าไปช่วยดูแลเสถียรภาพด้านราคา ธปท.ได้ดำเนินการใน 3 ด้านคือ การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 0.5% มาตั้งแต่เดือน พ.ค.ปี 63 การเติมเงินใหม่ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน รวมทั้งการออกมาตรการร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้กับประชาชน ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่ามีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน และที่ผ่านมาการตัดสินใจนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มดอกเบี้ยของธนาคารกลางในต่างประเทศ

ด้าน น.ส.รุ่งพร เริงพิทยา ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จากการศึกษาของ ธปท. พบว่าผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้ามากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมาคือครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในด้านอาหารและพลังงานเป็นหลัก ในอัตราที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ดังนั้น เมื่อราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นจึงได้รับผลกระทบกับค่าครองชีพมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบการขึ้นราคาของเนื้อหมูหน้าเขียงกับเนื้อหมูที่มีแบรนด์ขายในห้างสรรพสินค้า เนื้อหมูหน้าเขียงจะขึ้นราคาสูงกว่า ทำให้ครัวเรือนที่ซื้อจากหน้าเขียงได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะเดียวกัน ครัวเรือนรายได้น้อย ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 มากกว่า และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่า โดยเฉพาะในภาคบริการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 65 ธปท.ประเมินว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะลดลงในช่วงครึ่งหลัง โดยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ การขาดแคลนเนื้อสัตว์โดยเฉพาะหมู จะหมดไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ส่งผลให้ราคาลดลง เช่นเดียวกันราคาพลังงานที่นักวิเคราะห์มองว่าจะเริ่มลดลงช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน โดยปัญหาผลผลิตหมูคาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในเวลา 10 เดือน ขณะที่ปัญหาปัจจัยการผลิตชะงักงันจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์จะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี ทําให้แรงกดดันด้านราคาลดลง ส่วนการส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้นต่อราคาขายสินค้า จากการสอบถามผู้ประกอบการและประชาชนถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในช่วง 1 ปี พบว่า ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% แต่สถานการณ์สามารถ เปลี่ยนแปลงได้จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ