นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ยังคงติดตามใกล้ชิดถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 4-5 ครั้ง โดยจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากจะสะท้อนมายังนโยบายอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยที่ต้องปรับขึ้นตามในที่สุด ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจัยดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมปรับขึ้นอีกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีท่ามกลางภาวะความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่เผชิญมาต่อเนื่อง 2 ปีจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
“สหรัฐฯจะใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4-5 ครั้ง และปี 2566 อีก 3 ครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ควบคู่ไปกับการลดปริมาณวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งหากดอกเบี้ยขยับทีละ 0.25% รวม 4 ครั้งในปีนี้ ดอกเบี้ยก็จะขึ้นไป 1% และปี 2566 จะขึ้น 1.75-2% ซึ่งยังคงไม่แน่นอน ต้องติดตามใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆคือทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญรวมถึงไทย เพราะหากไม่ขยับเงินทุนจะไหลออกแต่จะขยับมากน้อยก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม ซึ่งภาวะนี้คนที่ไม่เป็นหนี้และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกระแสเงินสดหมุนเวียนสูงจะกระทบน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนเป็นหนี้จะลำบากขึ้น”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ภาพรวมธุรกิจได้มีการปรับตัวในการลดต้นทุนรอบด้านแล้วจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดการเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันที่กระทบค่าขนส่ง และวัตถุดิบต่างๆที่สูงขึ้น ฯลฯ ซึ่งเอกชนส่วนใหญ่ได้พยายามที่จะตรึงราคาสินค้าไว้เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน แต่หากระดับน้ำมันยังสูงขึ้นต่อเนื่องที่สุดจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นบ้าง สิ่งที่น่าห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะโควิด-19 ส่งผลให้มีภาระหนี้สินจนเข้าสู่ภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมาก.