นายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา สกนช.ได้ทำหนังสือไปยังสถาบันการเงิน 10 แห่งเพื่อให้เสนอแผนเงินกู้ในการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จและนำเสนอเข้าสู่การเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ในเดือน ธ.ค.นี้ และคาดว่าวงเงินจะเริ่มเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้ในเดือน เม.ย.2565
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ สกนช.เชิญให้เข้าร่วมโครงการ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และออมสิน โดยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมประเมินว่าเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ 2.5-3% และหากสถาบันการเงินใดให้ดอกเบี้ยต่ำก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยจะมีการเลือกสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และการกู้เงินจะเป็นวงเงินกู้ทั่วไป ไม่ใช่พันธบัตร และแผนชำระเงินกู้ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้คืนภายใน 3 ปีนับตั้งแต่การกู้เงินโดยการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงที่ระดับราคาน้ำมันตลาดโลกลดต่ำลง
ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 28 พ.ย.มีเงินอยู่ 1,426 ล้านบาท โดยวงเงินในส่วนของกองทุนน้ำมันเป็นบวก 22,400 ล้านบาท ขณะที่บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปช่วยอุดหนุนราคาแอลพีจี เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 และเมื่อน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลก็ได้เข้ามาตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ทำให้รวมเป็นวงเงินที่ต้องใช้อุดหนุนรวม 23,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ทาง สกนช.กำลังประสานเพื่อขอแยกการชดเชยราคาก๊าซหุงต้มไปขอใช้เงินจากเงินกู้ที่รัฐบาลกู้มาเยียวยาโควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาทแทน.