คนไทยฐานะการเงินเปราะบาง 61% มีปัญหาเงินช็อต-ออมน้อยใช้เงินเกินตัว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยฐานะการเงินเปราะบาง 61% มีปัญหาเงินช็อต-ออมน้อยใช้เงินเกินตัว

Date Time: 29 ต.ค. 2564 05:15 น.

Summary

  • เมื่อดูองค์ประกอบทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่า คนไทยมีทักษะด้านความรู้ทางการเงินอยู่ที่ 62.9% สูงกว่า 55.7% ในปี 61 แต่ทักษะที่ยังเป็นข้อด้อยที่ต้องเร่งให้ความรู้เพิ่ม

Latest

นาฬิกาเรือนละล้าน รถสปอร์ตก็หรู เพราะคำว่า “รวย” ของเราไม่เท่ากัน ความอู้ฟู่ ที่คนรวยจริง ไม่ทำกัน

น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจทักษะทางการเงินคนไทยปี 63 จากกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ 11,901 ครัวเรือน พบว่า คนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ 71.0% จากการสำรวจครั้งก่อนในปี 61 อยู่ที่ 66.2% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินประเทศทั่วโลกครั้งล่าสุด ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ในปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 60.5%

เมื่อดูองค์ประกอบทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่า คนไทยมีทักษะด้านความรู้ทางการเงินอยู่ที่ 62.9% สูงกว่า 55.7% ในปี 61 แต่ทักษะที่ยังเป็นข้อด้อยที่ต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มคือ ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้นได้ รวมทั้งยังไม่มีความเข้าใจที่ดีพอที่จะวิเคราะห์ความเสี่ยงจากผลตอบแทน และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แสดงให้เห็นว่า คนไทยยังมีความรู้ทางการเงินในผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนไม่เพียงพอ ด้านทัศนคติทางการเงิน หรือความตั้งใจบริหารจัดการเงินอยู่ที่ 82.0% เพิ่มขึ้นจาก 78.0% โดยทัศนคติการวางแผนเพื่ออนาคตระยะยาว มีพัฒนาการจากปี 61 มากที่สุด และผลจากความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทักษะด้านพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย แม้ผลสำรวจครั้งนี้จะดีขึ้น โดยอยู่ที่ 71.1% เพิ่มจาก 67.8% ข้อดีคือคนไทยจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ยังเห็นปัญหาเรื่องการไตร่ตรองก่อนซื้อสินค้าที่ทำได้น้อยกว่าที่ตั้งใจ รวมทั้งเป้าหมายการออมที่ไม่ชัดเจน และกรณีรายได้ที่ลดลงจากโควิด-19 ทำให้คนไทยหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้หรือเงินช็อตได้ลดลง โดยมีเพียง 38.9% ที่ตอบว่าไม่เคยมีปัญหาเงินไม่พอใช้ ขณะที่ 61.1% มีปัญหาเงินช็อต แสดงว่าฐานะการเงินของคนไทยยังเปราะบางมาก “นอกจากปัญหาเงินช็อตแล้ว สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าฐานะการเงินคนไทยเปราะบาง คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และการขอปรับโครงสร้างหนี้ที่สูงต่อเนื่อง แม้สัดส่วนผู้มีเงินออมจะเพิ่มขึ้นเป็น 74.7% จาก 72.% ในปี 61 แต่มีเพียง 38% เท่านั้นที่มีเงินออมฉุกเฉินอยู่ได้เกิน 3 เดือน ซึ่งเป็นเงินออมน้อยที่สุดที่จะอยู่ได้หากต้องหยุดงานกะทันหัน ขณะที่อีก 62% มีเงินออมน้อยกว่านั้นหรือไม่มีเงินออมเลย มีเพียง 19.7% เท่านั้นที่ออมเงินก่อนใช้”

หากแบ่งทักษะการเงินของคนไทยตามช่วงอายุ (Gen) คือ Gen Baby Boomer ขึ้นไป ผู้ที่เกิดก่อนปี 09 หรืออายุ 55 ปีขึ้นไป Gen X เกิดปี 09-23 อายุ 44-54 ปี Gen Y เกิดปี 24-43 อายุ 20-39 ปี และ Gen Y เกิดปี 44 ลงมาหรืออายุต่ำกว่า 20 ปี พบว่า Gen Y เป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินดีที่สุด มีความสามารถในการจัดสรรเงิน แต่มีการไตร่ตรองก่อนใช้จ่ายและการออมเงินน้อย จึงควรเพิ่มทักษะด้านทัศนคติเพื่อเลี่ยงปัญหาใช้เงินเกินตัว ขณะที่ Gen X เป็นวัยที่มีภาระทางการเงินสูงที่สุด แม้มีความรู้การเงินค่อนข้างดี แต่มีแนวโน้มประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ โดยเลือกกู้เงินเพื่อแก้ปัญหามากกว่าวัยอื่น และหากออมเงินจะทำเพื่อกรณีฉุกเฉินมากกว่าออมเพื่อเกษียณ

กลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่ระดับทักษะการเงินค่อนข้างน้อยและมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยกว่าทุกกลุ่ม แต่คะแนนโดยรวมดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 61 แต่ควรพัฒนาพฤติกรรมทางการเงินในภาพรวมต่อเนื่อง กลุ่ม Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีระดับทักษะทางการเงินน้อยที่สุดในทุกหัวข้อ แต่มีทัศนคติทางการเงินค่อนข้างดี เป็นวัยที่ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้น้อยกว่ากลุ่มอื่น รู้จักกู้เงินเมื่อจำเป็น ออมเพื่อเกษียณมากกว่าทุกกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามแผน ขณะที่มีความน่าเป็นห่วงเรื่องการถูกหลอกลวงทางการเงินมากที่สุด ทั้งการลงทุนปกติและในโลกออนไลน์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ