ในที่สุดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.บ. e-Service (อี-เซอร์วิส) ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้นได้ในวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ ภาระภาษีแวตของเหล่าแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติอยู่ในอัตรา 7% ของราคาค่าบริการ สำหรับแพลตฟอร์มที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และผู้ให้บริการจะต้องยื่นแบบฟอร์มการเสียภาษีในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ดังนั้นภายในเดือน ต.ค.ก็จะทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า วงเงินที่ชำระภาษีจากผู้ประกอบรายใดเป็นเท่าไร โดยประเมินเบื้องต้นว่าในปีแรก จะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอี-เซอร์วิส ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท
การริเริ่มจัดเก็บภาษีจากบรรดาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากมีความพยายามมาหลายยุคหลายสมัย หลายต่อหลายครั้งล้มเหลวเพราะองค์กรต่างชาติ ผู้แทนการค้าต่างประเทศ เดินสายล็อบบี้รัฐบาล มิให้มีการจัดเก็บ ขณะที่รัฐมนตรีบางคนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดเก็บ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นต่างชาติ จะไม่มาลงทุนในประเทศไทย
จึงเป็นที่น่ายินดีที่สุดท้ายแล้ว กรมสรรพากรสามารถผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ แม้จะใช้เวลาในการดำเนินการนานกว่า 2 ปี แต่ก็ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีประเภทธุรกิจเพิ่มเติม จากที่ไม่มีการประกาศเก็บภาษีประเภทธุรกิจใหม่มานานกว่า 30 ปี
ธุรกิจอี-เซอร์วิสที่เข้าข่ายเสียภาษีภายใต้กฎหมายใหม่ ได้รับการจัดหมวดหมู่ดังนี้คือ 1.แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ ได้แก่ อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay) ขณะที่มาร์เกตเพลส เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ไม่เข้าข่ายเพราะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ซึ่งมีภาระภาษีอยู่แล้ว
2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) กูเกิล (Google) ซึ่งโครงสร้างรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม รับชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใดๆได้เลย
3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยว เช่น บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb)
4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี เช่น แกร็บ (Grab) ธุรกิจพวกนี้มีการเก็บค่าวางจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม และไม่มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง
5.ธุรกิจบริการออนไลน์ ที่มีรายได้จากระบบสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ ได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สปอร์ติฟาย (Sportify) แอปเปิลเพลย์ (Apple Play), ซูม (Zoom) เป็นต้น
โดยจากการที่กรมสรรพากรได้เปิดให้ลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีแวตตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนแล้ว 51 ราย จาก 15 ประเทศ โดยแพลตฟอร์มต่างชาติส่วนใหญ่ จดทะเบียนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ เช่น เฟซบุ๊ก, แอร์บีเอ็นบี, แอปเปิล รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา เช่น อเมซอน, ซูม, Digital-Ocean, Humble Bundle เป็นต้น ส่วนสิงคโปร์ เช่น กูเกิล, ไมโครซอฟท์, เน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์, Hubspot, Coda เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากนี้กรมสรรพากรยังเปิดให้แพลตฟอร์มต่างชาติได้ลงทะเบียนเป็นระยะๆ ตั้งเป้าน่าจะรวบรวมผู้ประกอบการได้ 100 ราย ขณะนี้มีมาลงทะเบียนแล้ว 51 ราย ถือว่าเกินความคาดหมาย จากเดิมคาดว่าจะมาลงทะเบียนช่วงแรกเพียง 25 ราย
“เมื่อยุคสมัยการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาการจัดเก็บภาษีก็ต้องปรับให้ทันสมัย เพราะฉะนั้นภาษีอี-เซอร์วิส จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย ที่มีภาระภาษีและยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่หนักหน่วง จากแพลตฟอร์มต่างชาติที่มาแรงด้วยเทคโนโลยี ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด การใช้เทคโนโลยีและการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ กรมสรรพากรจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับธุรกิจยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรตามเอกสารงบประมาณปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 1.44 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือน (ต.ค. 2563-มิ.ย.2564) จัดเก็บรายได้ที่ 1.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจัดเก็บได้ 1.26 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 เดือน อย่างไรก็ตามคาดว่าที่สุดแล้ว การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ จะไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดน้อยลง
ฉะนั้นการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส ในช่วง 2 เดือนนี้ (ก.ย.-ต.ค.) น่าจะมาชดเชยการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่หายไปได้บางส่วน แต่เชื่อว่าในปีงบประมาณ 2565 การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ.
ดวงพร อุดมทิพย์