ธปท. ชี้แจงปม "ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก" ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท. ชี้แจงปม "ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก" ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด

Date Time: 11 ส.ค. 2564 12:20 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • แบงก์ชาติ ไขข้อข้องใจปมลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท หลังประชาชนกังวลกลัวเงินเกิน 1 ล้านจะไม่ได้รับคืน ย้ำชัดสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง

Latest


แบงก์ชาติ ไขข้อข้องใจปมลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท หลังประชาชนกังวลกลัวเงินเกิน 1 ล้านจะไม่ได้รับคืน ย้ำชัดสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง 

จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ชี้แจงปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ในสถาบันการเงินแต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาท โดยมีผลวันที่ 11 ส.ค.64 เป็นต้นไป ว่าเป็นไปตามแผน ยืนยันสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง (ธปท. ยันสถาบันการเงินไทยสุดแกร่ง ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นไปตามแผน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจง 3 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ดังนี้ 

ความเข้าใจผิดแรก เงินฝากส่วนเกิน 1 ล้านบาทจะไม่ได้รับคืน?

ตอบ ธปท.ระบุว่าได้รับคืน โดยเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้าน จะได้ความคุ้มครองทันที ขณะที่เงินฝากส่วนเกินยังมีสิทธิ์ได้รับคืน แต่ต้องรอการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจะได้รับเงินคืนตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย 

ความเข้าใจผิดที่ 2 ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพราะสถาบันการเงินมีปัญหา?

ตอบ  ธปท. ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เป็นไปตามแผนที่กำหนดเดิมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตั้งแต่ปี 2551 กำหนดวงเงินคุ้มครอง เป็นขั้นบันไดตามลำดับ ดังนี้

ปี 2551 คุ้มครองเต็มจำนวน

ปี 2555 คุ้มครอง 50 ล้านบาท

ปี 2558 คุ้มครอง 25 ล้านบาท

ปี 2559 คุ้มครอง 15 ล้านบาท

ปี 2561 คุ้มครอง 10 ล้านบาท

ปี 2562 คุ้มครอง 5 ล้านบาท

และ ปี 2564 คุ้มครอง 1 ล้านบาท

จากเดิมที่ ธปท. เคยกำหนดจะปรับลดเหลือ 1 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 แต่ขยายเวลามาเรื่อยๆ จากความผันผวนของตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดวงเงินคุ้มครองต่ำกว่านี้แล้ว

ปัจจุบันสถาบันการเงินมีฐานะเข้มแข็ง ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ จากเงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และยังสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สถาบันการเงินยังมีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการทางการเงิน และรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยมีเงินกองทุน (BIS ratio) อยู่ที่ 20.04% และสภาพคล่อง (LCR) อยู่ที่ 186.54% ณ เดือน มี.ค. 64

ความเข้าใจผิดที่ 3 การปรับลดวงเงินคุ้มครอง ในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชน?

ตอบ  ธปท. ยืนยันว่าการลดวงเงินไม่กระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ เพราะวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทนี้ มีผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน 82 ล้านราย หรือคิดเป็น 98% ของผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองทั้งระบบอยู่แล้ว 

หากพิจารณาการดำเนินการในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศ พบว่า ไม่มีหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองในช่วงโควิด-19 จากข้อมูล วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีสัดส่วน 98% และมากกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 2% 

ทั้งนี้ วิธีการนับจำนวนรายคือ นับตามจำนวนผู้ฝากเงิน ที่มีอยู่ในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เช่น 

นาย ก. มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร A อยู่ 2 บัญชี นับเป็น 1 ราย

นาย ข. มีเงินฝากกับธนาคาร 3 แห่ง นับเป็น 3 ราย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ