ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า กรณีสถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินใน 35 สถาบันการเงินจาก 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน เหลือ 1 ล้านบาทเริ่มตั้งแต่ 11 ส.ค.เป็นต้นไปนั้น ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ไม่ได้ปรับลดการคุ้มครองเงินฝากลง และยังให้การคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเหมือนเดิม
ทั้งนี้ สถาบันการเงินรัฐทั้ง 6 แห่งไม่ได้อยู่ในสมาชิกของ สคฝ.เนื่องจากมี พ.ร.บ.การก่อตั้งเป็นของตนเอง โดยปัจจุบันทุกธนาคารยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก และหากแบงก์ใดมีปัญหารัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าไปดูแลอยู่แล้ว ผู้ฝากไม่ต้องกังวลใจ ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 64 มีเงินฝากรวมกว่า 5.5 ล้านล้านบาท มีบัญชีเงินฝากทุกประเภท 82 ล้านบัญชี ซึ่งทุกสถาบันการเงินจะได้รับการดูแลโดยรัฐทั้งหมด
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากไม่มีผลต่อลูกค้าธนาคาร เพราะเป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมี พ.ร.บ.จัดตั้งเป็นของตัวเอง เงินฝากทุกบาททุกสตางค์รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน โดยล่าสุดออมสินมีฐานลูกค้าเงินฝาก 22 ล้านบัญชี วงเงินฝากรวมกว่า 2.45 ล้านล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ไม่ได้อยู่ในการดูแลคุ้มครองเงินฝากกับ สคฝ. โดย ธอส.เป็นแบงก์รัฐ มีความมั่นคงและสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ลูกค้าที่ฝากเงินกับ ธอส.จะได้รับการดูแลเงินฝากเหมือนเดิม โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานเงินฝากกว่า 9 แสนล้านบาท
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ขอยืนยันว่าลูกค้าที่ฝากเงินกับ ธ.ก.ส. 21 ล้านบัญชี วงเงิน 1.74 ล้านล้านบาท จะได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิม เนื่องจาก ธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐ จึงไม่มีการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากเหมือนธนาคารพาณิชย์ที่อื่น.