เงินหยวนดิจิทัล...สถานีต่อไป?

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เงินหยวนดิจิทัล...สถานีต่อไป?

Date Time: 31 ก.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • จีนเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน เรียกกันว่า “หยวนดิจิทัล (Digital Yuan : e–CNY)” ที่มีชื่อเป็นทางการว่า DCEP

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

จีนเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน เรียกกันว่า “หยวนดิจิทัล (Digital Yuan : e–CNY)” ที่มีชื่อเป็นทางการว่า DCEP (Digital Currency Electronic Payment) โดยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2557 และทดลองนำร่องในหลายเมืองใหญ่ตั้งแต่กลางปี 2563 แต่เพิ่งจะเผยแพร่ความคืบหน้าการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลเป็นทางการครั้งแรกในเอกสาร white paper ภาษาอังกฤษเมื่อกลางเดือน ก.ค.นี้เอง บางขุนพรหมชวนคิดจะมาอัปเดตกันค่ะว่าก้าวต่อไปของหยวนดิจิทัลคืออะไร จะส่งผลต่อระบบการเงินโลกอย่างไร

ในเอกสารฉบับนี้ระบุว่า ประเทศจีนต้องการมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินรายย่อยรูปแบบใหม่ที่ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าทันเทคโนโลยี ตอบสนองเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนที่รุดหน้าเร็ว แม้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โมบายแบงกิ้ง ในปัจจุบันจะสามารถให้บริการชำระเงินรายย่อยได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ แต่ประเทศต้องการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินรายย่อยที่ปลอดภัยกว่าเชื่อมโยงบริการการเงินระหว่างผู้ให้บริการเอกชนได้ดีกว่า-ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่า เพราะจากการสำรวจพบว่า คนจีนใช้เงินสดไม่ถึง 20% ของมูลค่าธุรกรรมชำระเงินทั้งหมดแล้วพื้นที่ที่ยังใช้เงินสดอยู่ส่วนหนึ่งเพราะการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังเข้าไม่ถึง

อีกด้านหนึ่ง กระแสการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน เช่น คริปโตเคอร์เรนซี ก็เริ่มเข้ามาเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางการเงินและความมั่นคงของประเทศมากขึ้น กลายเป็นเครื่องมือเก็งกำไร ราคาผันผวนรุนแรง ไม่มีมูลค่าจริง สิ้นเปลืองพลังงานผลิตเยอะ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินหรือใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายได้เพราะไม่ต้องระบุตัวตน ยิ่งมีการพัฒนาคริปโตเคอร์เรนซีชนิดราคาไม่ผันผวน ที่เรียกว่า สเตเบิลคอยน์ (stablecoins) ทำให้เริ่มมีธุรกิจใหญ่ในโลกบางรายมีแผนออก global stablecoins. ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงและความท้าทายต่อระบบการเงินและระบบการชำระเงินโลก รวมถึงมีนัยต่อนโยบายการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่มอีก

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจีนจึงสร้างเงินหยวนดิจิทัลขึ้นมาเองเพื่อใช้แทนเงินสดในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกำหนดวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ในการออก e-CNY ครั้งนี้เพื่อ (1) ให้เงินสดที่ธนาคารกลางออกใช้มีรูปแบบดิจิทัลตอบสนองความต้องการประชาชนและเข้าถึงได้ง่าย (2) สนับสนุนการแข่งขันเท่าเทียม เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงินรายย่อยในประเทศ (3) ให้สากลรับรู้และพัฒนาสู่การชำระเงินข้ามพรมแดน

ธนาคารกลางจีนดูมีท่าทีละมุนละไมขึ้นในการใช้เงินหยวนดิจิทัลปูทางสู่ความเป็นสากลของเงินหยวน เอกสารนี้ระบุว่าการใช้ “สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC)” ชำระเงินข้ามพรมแดนนั้น นับเป็นความท้าทายที่ประชาคมโลกต้องหารือกัน เพราะมีความซับซ้อนเกี่ยวโยงกับอธิปไตยทางการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และเกณฑ์กำกับดูแลของแต่ละประเทศ สำหรับ “ความเป็นสากลของสกุลเงิน” เป็นเรื่องที่ขึ้นกับพื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดการเงินของประเทศนั้น แม้ตอนนี้เทคโนโลยีของจีนจะพร้อมใช้ชำระเงินข้ามประเทศได้แล้ว แต่จีนมีแผนจะออกใช้ e-CNY แค่ภายในประเทศก่อน

สถานีต่อไปของเงินหยวนดิจิทัล...อาจมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทรนด์การพัฒนา CBDC ชำระเงินข้ามพรมแดน จีนมีข้อได้เปรียบที่เดินหมากเกมนี้ก่อน เมื่อต้นปีก็เพิ่งประกาศเข้าร่วมโครงการ multiple CBDC Bridge กับธนาคารกลางของฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องใช้ CBDC หลายสกุลในการโอนเงินข้ามพรมแดนระหว่างสถาบันการเงิน บนเงื่อนไขที่แต่ละประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันในการรักษาอธิปไตยทางการเงินและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กันได้ หากโครงการนี้สำเร็จก็อาจเกิด CBDC-bubble ระหว่างกลุ่มประเทศ ช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมการเงินใหม่ข้ามพรมแดนกันมาได้ด้วยค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ