ช่วยเยียวยาลูกหนี้ 7.5 แสนราย “ออมสิน” จัดเต็มพักหนี้สินเชื่อรายย่อย 6 เดือน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ช่วยเยียวยาลูกหนี้ 7.5 แสนราย “ออมสิน” จัดเต็มพักหนี้สินเชื่อรายย่อย 6 เดือน

Date Time: 21 ก.ค. 2564 06:45 น.

Summary

  • ออมสินประกาศพักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ลูกหนี้รายย่อย 7.5 แสนราย 6 เดือน รอรับสิทธิผ่านเอสเอ็มเอส หรือแอป MyMo ยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ด้านผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่า

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ออมสินประกาศพักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ลูกหนี้รายย่อย 7.5 แสนราย 6 เดือน รอรับสิทธิผ่านเอสเอ็มเอส หรือแอป MyMo ยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ด้านผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เอาด้วยให้พักหนี้ 2 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ ธนาคาร รัฐ รวมทั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อ ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการธุรกิจรายกลางรายย่อย (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยสามารถเริ่มติดต่อของพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ และนอนแบงก์ทยอยออกเกณฑ์ในการพักชำระหนี้ต่อเนื่อง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ออมสินได้ออกมาตรการ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้กับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร มีลูกหนี้ ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยราว 750,000 ราย รวมยอดหนี้ 50,000 ล้านบาท

โดยเป็นมาตรการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ ยกเว้นลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 และหลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้น และดอกเบี้ยที่พักไว้จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้ หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร

“ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใดๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 ก.ค.2564 และเฟส 2 เดือน ส.ค.2564 โดยลูกค้าจะทยอยได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือการแจ้งเตือน Notification ทางแอปพลิเคชัน MyMo ให้กดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา”

นายวิทัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสิน ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ 1. มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ ซึ่งให้สิทธิพักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง 2.มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 3.มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4.มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ด้านนายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐมีมาตรการยกระดับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาชิกสมาคมจึงร่วมมือกันสนับสนุนมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของภาครัฐ 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา โดยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ระหว่าง ก.ค.-ก.ย.64

โดยมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะครอบคลุมลูกหนี้ ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่ประกอบอาชีพในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ 13 จังหวัด และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสั่งปิดกิจการโดยคำสั่งของรัฐ 2.ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและมีความประสงค์จะต้องติดต่อขอรับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้

สำหรับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ มีสมาชิกที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 10 ราย มีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 7,000 สาขา มีฐานลูกค้ารวมกันไม่น้อยกว่า 3 ล้านราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ