น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในทิศทางใด คาดว่าในเดือน ก.ค.นี้ จะมีความชัดเจน ซึ่งการปรับประมาณการเศรษฐกิจทุกครั้งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา และอ้างอิงข้อมูลของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ สศช.ด้วย โดยล่าสุด เมื่อเดือน เม.ย. สศช.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตปี 2564 ที่ 2.3% ซึ่งครั้งนั้น ยังไม่ได้รวมการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 แต่อย่างใด
สำหรับประเด็นการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ อาทิ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. จนถึง ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 24 มิ.ย. มียอดผู้ลงทะเบียนเพียง 384,220 สิทธิ เหลืออีก 3,615,780 สิทธิ จากจำนวนเป้าหมาย 4 ล้านสิทธิ ขณะที่โครงการคนละครึ่ง ได้เปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.เป็นต้นมา จนถึง ณ เวลา 17.00 น. มียอดลงทะเบียนแล้ว 28.28 ล้านสิทธิ คงเหลืออีก 2.72 ล้านสิทธิ จะครบจำนวน 31 ล้านสิทธิ โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนครบจำนวนทั้ง 2 โครงการ
“กระทรวงการคลังได้เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้มาลงทะเบียนตามวันเวลาที่กำหนด โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวัน และจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนกว่าจะครบ แต่หากเปิดแล้วไม่มียอดการลงทะเบียนใหม่ติดต่อกันหลายวันอาจจะพิจารณาใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการลงทะเบียน หรือปิดการลงทะเบียน”
น.ส.กุลยา กล่าวว่า หากมีคนมาลงทะเบียนโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ และคนละครึ่งเฟส 3 ไม่ครบตามเป้าหมาย คลังต้องโอนเงินส่วนเกินที่ได้เสนอของบประมาณไว้กลับเข้าไปในวงเงินของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้ต่อไป.