เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผนึก 6 ธนาคาร หนุนร้านค้า ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เดอะมอลล์ กรุ๊ป ผนึก 6 ธนาคาร หนุนร้านค้า ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู

Date Time: 31 พ.ค. 2564 15:17 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • เดอะมอลล์ กรุ๊ป เดินหน้าโครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ จับมือ 6 ธนาคาร ได้แก่ กรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และออมสิน ร่วมสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู

Latest


เดอะมอลล์ กรุ๊ป เดินหน้าโครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ จับมือ 6 ธนาคาร ได้แก่ กรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และออมสิน ร่วมสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู ช่วยให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมจาก พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. Soft Loan โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อร่าง "มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)" วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท

โดยมีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็น มาตรการฟื้นฟูฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองกิจการ พยุงระดับการจ้างงาน และมีโอกาสในการฟื้นฟูศักยภาพ รองรับโลกยุคหลังวิกฤติ COVID-19 โดยในการจัดทำมาตรการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจำแนกมาตรการเป็น 2 หมวด ตามลักษณะปัญหาที่ต่างกัน ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ

2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน หรือ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เราในฐานะองค์กรเอกชนของคนไทยที่ยืนหยัดเคียงข้างคนไทยมาตลอด โดยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ด้วยมาตรการความช่วยเหลือในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง นับแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ มาตรการรณรงค์ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ, บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19, สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย และประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ

โดยเฉพาะมาตรการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจนั้น เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินมาตรการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน มีความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 ราย พร้อมเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างทุกกลุ่ม กับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั้ง 6 แห่ง

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า การประชุมสัมมนาออนไลน์ในวันนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่คู่ค้าทุกราย จะได้ทราบในข้อมูลมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และข้อเสนอแนะพิเศษต่างๆ จาก 6 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ค้าทุกรายในการพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมที่สุด

โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้าซัพพลายเออร์ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไป ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย โดยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับอนุมัติวงเงินจะได้รับการแจ้งจากธนาคารโดยตรง และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างผู้กู้และธนาคาร โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขอให้คำมั่นว่า จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานพลัง บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อให้คู่ค้าทุกรายได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนสืบไป

เร่งช่วยผู้ประกอบการ SME เสริมสภาพคล่อง และลดภาระการเงิน

ด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อรายย่อย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่ออกมาจะช่วยเสริมสภาพคล่อง และลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คือเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างเดอะมอลล์กรุ๊ปและภาคสถาบันการเงิน ภายใต้โครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย ให้มีสภาพคล่องทางการเงิน ประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงานให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ โดยธนาคารกรุงไทย พร้อมเคียงข้างและสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักดีว่าภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ สภาพคล่องและเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงธุรกิจของผู้ประกอบการให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ความร่วมมือในโครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ ที่ขานรับมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)

ตามนโยบายของ ธปท. ร่วมกับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ในครั้งนี้ นอกจากสินเชื่อซอฟต์โลนภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ แล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยเฉพาะ รวมถึงโซลูชันทางธุรกิจต่างๆ

ทั้งนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ลดรายจ่าย-เพิ่มยอดขาย-ขยายกิจการ ธนาคารมุ่งมั่นยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าและหวังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถพยุงธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเดินหน้าต่อไปได้หลังวิกฤติ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปสินเชื่อฟื้นฟู ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังมาโดยตลอด นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเราแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงแรก สำหรับผู้ประกอบการที่รายได้ลดลง ธนาคารก็จะช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและรักษาพนักงานไว้

ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการตาม Demand ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในรูปของ Working Capital

ช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า มีโครงการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และ ที่จัดเพิ่มเติมให้เองอีกสำหรับลูกค้า ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยในรูปแบบต่างๆ มากมาย ในครั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพิ่มเติม KBank ได้เตรียมวงเงินเข้าร่วมไว้อีก 15,000 ล้านบาท หวังว่าจะช่วยลูกค้าได้กว่า 10,000 ราย

นอกจากเตรียมวงเงินแล้ว เรายังเตรียมช่องทางในการติดต่อ ทั้งผ่านช่องทาง Digital และ Call Center ที่ลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถได้รับความช่วยเหลือจากธนาคาร เราเตรียมพนักงานไว้กว่า 3,000 คน เพื่อติดต่อลูกค้า SME ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมสนับสนุน โครงการเดอะมอลล์ ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ และสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมหวังว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งของกรุงศรีเอง จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน ช่วยประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปได้และกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างปกติในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากความช่วยเหลือทางการเงิน กรุงศรียังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเจรจาจับคู่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Krungsri Business Virtual Matching) และกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว พร้อมรับมือกับอนาคตที่เปลี่ยนไป

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมโครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ครั้งนี้ ธนาคารออมสินไม่ได้มุ่งเน้นขยายฐานการทำธุรกิจ หากแต่มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงพนักงานและลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถประคับประคองธุรกิจและวิถีชีวิตประจำวันให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ ผ่านการเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

- สินเชื่อ Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs ภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่น วงเงินให้กู้สูงสุด 500.000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี

- สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน โดยใช้ที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน หรือไถ่ถอนจำนองจากสัญญาขายฝาก คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 0.99% ต่อปี

- สินเชื่อเพื่อผู้เช่าและผู้ประกอบการธุรกิจ Supply Chain ในเครือข่ายของ บจ. เดอะมอลล์ กรุ๊ป อัตราดอกเบี้ย MOR-1% ต่อปี

ส่วนพนักงานและลูกจ้างของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาจเข้าร่วมในโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ตามสิทธิ์ที่ปรากฏในแอป MyMo วงเงินให้กู้ไม่เกิน 10,000 บาท ปลอดชำระ 6 งวดแรก (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ที่ธนาคารฯ ร่วมกับ บจ. เงินสดทันใจ จัดโปรโมชัน 2 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.49% ต่อปีอีกด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ