หอการค้าไทยจับมือซีอีโอค้าปลีก อ้อนแบงก์ชาติปลดล็อกซัพพลายเออร์เอสเอ็มอีที่ติดเครดิตบูโร-เอ็นพีแอล เข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ หลังพบ 70% ของซัพพลายเออร์ ยังไม่เคยเข้าถึง ด้าน ส.อ.ท.ยืดต่อ ให้สมาชิก บริษัทใหญ่จ่ายเงินค่าสินค้าให้เอสเอ็มอีเร็วขึ้นภายใน 30 ปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการระดมความเห็นเพื่อเร่งช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี-SME) เข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนทำธุรกิจได้ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงจากสยามพิวรรธน์, เดอะมอลล์, เซ็นทรัล, โรบินสัน, ซีพี ออลล์, แม็คโคร, โลตัส, บิ๊กซี , ตั้งงี่สุน และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (สสว.) ว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกขอให้ธนาคารพาณิชย์หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาปลดล็อกหรือผ่อนผันให้เอสเอ็มอีที่ติดเครดิตบูโร หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ (เอ็นพีแอล) ที่มียอดขายดีและสม่ำเสมอ ให้เข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนและสินเชื่อที่มีระยะเวลาให้กู้ (เทอม โลน) ได้ง่ายขึ้น โดยใช้ข้อมูลสนับสนุนจากผู้ประกอบการค้าปลีก ประกอบการพิจารณาเป็นหลักประกัน
“ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีประวัติการซื้อขายของเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลายเออร์) อยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ ทำให้ธนาคารสามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะมีค้าปลีกรายใหญ่การันตีให้อยู่แล้ว”
นอกจากนี้ ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทางเลือก เช่น สินเชื่อแฟคเตอริ่ง และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องให้มีอัตรา ใกล้เคียงกับซอฟต์โลน เพื่อเป็นทางเลือกให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือในการทำสินเชื่อแฟคเตอริ่งโดยตรงกับเอสเอ็มอี รวมทั้งให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณายอดการซื้อขายจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆมารวมในการอนุมัติสินเชื่อซอฟต์โลน ไม่ใช่ใช้แต่ประวัติการซื้อขายเป็นประจำกับผู้ประกอบการค้าปลีกเท่านั้น
“ตอนนี้เซ็นทรัลรีเทล และธนาคารกสิกรไทย ได้เริ่มต้นแบบของแซนด์บ็อกซ์ในการปล่อยกู้ให้ซัพพลายเออร์กว่า 4,000 ราย โดยสามารถอนุมัติได้มากขึ้นและรวดเร็ว และกว่า 70% ของซัพพลายเออร์ยังไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน และสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว หลังจากนี้จะขยายผล ไปยังสมาชิกของสมาคมค้าปลีกและธนาคารพาณิชย์อื่นๆต่อไป คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีมากกว่า 100,000 ราย โดยเฉพาะขนาดเล็กที่จะเข้าถึงซอฟต์โลน และแฟคเตอริ่งในต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่อง”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เตรียมขยายความร่วมมือโครงการชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าเอสเอ็มอีเร็วขึ้นภายใน 30 วัน ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และบริษัทขนาดใหญ่ 100 บริษัท ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET100 เพื่อช่วยเพิ่มเสริมสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตไม่ให้เกิดการปลดแรงงานและช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติโควิด-19 ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติม จากระยะที่ 1 โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เครือเอสซีจี, สหพัฒน์, ซีพี, ไทยเบฟ และปตท. เป็นต้น “การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบให้หลายๆธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส.อ.ท.ได้ดำเนินโครงการชำระค่าสินค้าหรือ บริการให้แก่คู่ค้าเร็วขึ้น เพราะมีธุรกรรมการเงิน เป็นเอสเอ็มอีรวม 20,000 กิจการที่ได้รับประโยชน์ มีมูลค่าการซื้อขายของเอสเอ็มอีในครั้งนี้เฉลี่ย 4,300 ล้านบาทต่อเดือน”.