นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีแนวโน้มจะส่งผลให้เอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร และที่เน้นตลาดในประเทศ กลายเป็นผู้ป่วยหนักมากขึ้นเนื่องจากขาดรายได้ในการประคองธุรกิจ ทำให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องมีสูงและในทางปฏิบัติบางส่วน ยังไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนแม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลจะต้องหามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องโดยเร่งด่วน
“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ภาคท่องเที่ยวบริการและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายแห่งโดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมแบบกึ่งล็อกดาวน์พวกนี้ยิ่งถูกซ้ำเติมไปอีก หากเทียบกับผู้ป่วยโควิด-19 เวลานี้เอสเอ็มอีกลายเป็นจากติดเชื้อเริ่มอาการหนักต้องได้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งก็คือต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเพื่อให้อยู่รอด แม้ซอฟต์โลนจะปรับเกณฑ์และทำให้การปล่อยมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มากนัก เพราะสถาบันการเงินได้ดำเนินงานแบบปลอดภัยไว้ก่อน”
สำหรับภาคการส่งออกทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีภาพรวมถือว่าเริ่มดีขึ้น และจะเป็นภาคธุรกิจเดียวที่จะเข้ามาประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากมีสัญญาณบวกจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1-2 ของโลก มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น จากการเร่งระดมฉีดวัคซีนโดยเฉพาะสหรัฐฯที่ทำได้ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตจากปีก่อนได้ 4-6%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จะหารือกันวันที่ 19 พ.ค.นี้ เพื่อติดตามแนวทางการร่วมมือกับรัฐบาล ในการเร่งรัดการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งเห็นว่ารัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติซึ่งถือเป็นเรื่องที่ กกร.ได้เคยเสนอมานานแล้ว เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ล่าช้าไปเรื่อยๆก็จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก ทั้งงบประมาณกระตุ้นและอัดฉีด และโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆที่มีมูลค่าเดือนละแสนล้านบาท.