น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ดีขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.ปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น ในทุกหมวดทั้งการบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึง 15.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่ม 1.8% การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 5.7% และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.1% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรายได้การท่องเที่ยวที่ยังลดลง อย่างไรก็ตาม หลังจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 จากข้อมูลเร็ว ธปท.เห็นชัดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดต่ำลง
ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการถึงผลกระทบของโควิดระลอกที่ 3 พบว่า ภาคการค้า และธุรกิจบริการได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยในภาคการค้านั้น เริ่มกระทบต่อยอดขาย เนื่องจากการระบาดระลอกที่ 3 ระบาดในวงกว้างมากกว่าระลอกที่ 2 และที่ผ่านมากำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีส่วนช่วยได้บ้าง ขณะที่ภาคบริการนั้น โควิดระลอกที่ 3 มีผลกระทบมากกว่าที่คาด โดยโรงแรมนั้น แม้ช่วงก่อนหน้าจะมีวันหยุดช่วงสงกรานต์ แต่ลูกค้ายกเลิกไปบ้าง นอกจากนั้น ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจจะไม่มาก แต่จะได้ผลกระทบจากความต้องการซื้อของคนที่จะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยกลุ่มผู้รับเหมาที่รับงานจากเอกชนขนาดกลางและเล็ก มีการเลื่อนการว่าจ้างออกไปหรือชะลอเปิดโครงการใหม่
“ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 5 พ.ค.นี้ จะพิจารณาปัจจัยผลกระทบที่มาจากโควิดระลอก 3 เพราะในประมาณการครั้งก่อนของ ธปท.ที่ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% นั้นยังไม่รวมผลกระทบโควิดระลอกที่ 3 ไว้ ซึ่งยอมรับว่า มีผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อจีดีพี แต่จะต้องรอการประเมินภาพให้ชัดเจน และอาจจะมีผลให้การฟื้นตัวไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สะดุดลง ขณะที่การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ล่าช้าออกไป ดังนั้น ตัวเลขคงจะไม่ได้อยู่ที่ 3% แน่นอนอาจจะมีการปรับลดลงหลังการพิจารณาของที่ประชุม กนง.”
ขณะนี้ ภาครัฐอยู่ระหว่างประเมินภาพผลกระทบ และได้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติม ขณะที่ในส่วนของ ธปท.นั้น คาดว่าในการประชุม กนง.จะมีการหารือเพื่อพิจารณาที่จะออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม หากมาตรการเดิมไม่เพียงพอ.