น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายกรมภาษีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้รับนโยบายไปแล้ว และจะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สศค. จะประชุมติดตามเรื่องการเก็บรายได้ของกรมภาษีทุกไตรมาส เพื่อให้รู้ข้อมูลว่าจัดเก็บได้เท่าใด และหากต้องเร่งดำเนินการจัดเก็บ จะดำเนินการในรูปแบบใด
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณปี 64 ไม่ต้องกังวลเรื่องที่ว่าจะไม่มีเงินใช้จ่ายของปีนี้ ซึ่งยังสามารถใช้จ่ายได้อยู่ เนื่องจากมีช่องว่างในการกู้เงิน นอกเหนือจากการกู้เงินชดเชยขาดดุล ยังมีช่องว่างเรื่องการกู้รายจ่ายสูงกว่ารายได้ และปีงบประมาณ 64 คลังได้วางกรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลไว้ 608,000 ล้านบาท แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม ตามกฎหมายก็ยังมีช่องว่างในเรื่องการกู้เงินรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ซึ่งที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติให้มีช่องกู้ได้อีก 127,000 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 730,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงมั่นใจว่าขณะนี้กระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการเรื่องการบริการเงินได้ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีกู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กู้ไว้แล้ว
“กระทรวงการคลังมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่เมื่อกำหนดเป้าหมายรายได้ไว้แล้ว ก็อยากให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เมื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมาย ถ้าจะหลุดเป้าหมาย ก็ขอน้อยที่สุด”
น.ส.กุลยา กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการหารายได้เพิ่มเติมจะต้องพิจารณารูปแบบการหารายได้ ที่ต้องไม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงนี้ จึงต้องพิจารณาหลายแนวทางว่ามีส่วนใดที่สามารถหาเม็ดเงินเข้ามาได้ ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการเม็ดเงินในส่วนอื่นๆ ทั้งเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก็จะเป็นผู้บริหารการนำเงินส่งคลังด้วย.