ครม.อนุมัติขยายผู้รับเงิน 7,000 บาทในโครงการเราชนะอีก 2.4 ล้านคน เพิ่มวงเงินให้อีก 3,042 ล้านบาท ขยายระยะเวลาใช้วงเงินจากไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. เป็นวันที่ 30 มิ.ย.2564 “บิ๊กตู่” ถก “ทีมเศรษฐกิจ” หลังประชุม ครม.เสร็จ ยืนยัน คลัง-สคช.พร้อมออกแพ็กเกจมาตรการเยียวยาชุดใหม่ พ.ค.-มิ.ย.นี้ รวมมิตรมาตรการเดิม เพิ่มของใหม่กระตุ้นใช้เงินออม เดินหน้าเปิดประเทศ 1 ก.ค.ตามกำหนดเดิม
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการเราชนะ เพิ่มอีก 2.4 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมายเดิม 31.1 ล้านคน เป็น 33.5 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 213,242 ล้านบาท และขยายระยะเวลาใช้วงเงินสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ จากสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค.2564 เป็นวันที่ 30 มิ.ย. 2564 และให้กรมบัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามที่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ใช้จ่ายจริงเป็นรายวัน ส่วนกรณีที่กรมบัญชีกลางโอนเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สำเร็จ ให้ดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินซ้ำภายในวันที่ 24 ก.ย.2564 ส่วนกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ให้ สศค. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งจากประชาชนภายในวันที่ 13 พ.ค.2564
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สอบถามในที่ประชุมถึงมาตรการเยียวยารอบใหม่ โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ได้กล่าวว่ามีเตรียมๆไว้บ้างแล้ว โดยในส่วนวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 8 เม.ย.2564 ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 282 โครงการ วงเงิน 759,792 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 240,207 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหามาตรการเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสศช. และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
นายสุพัฒนพงษ์เปิดเผยภายหลังการหารือว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในรอบนี้ โดยคาดว่าจะคลี่คลายลงในเวลา 2 สัปดาห์ เพราะหน่วยงานต่างๆมีประสบการณ์รับมือกับการระบาดในรอบที่ผ่านมาแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน โดยหากสถานการณ์ สามารถควบคุมได้เร็ว หรือหากคลี่คลายในเวลา 1 เดือน ยังมองว่ากระทบเศรษฐกิจยังไม่มากนัก ซึ่งรัฐบาลจะเร่งหามาตรการต่างๆมาเพิ่มเติมในการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการเยียวยานั้น ทางคลัง และ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการ ซึ่งคาดว่ามาตรการต่างๆจะออกมาเป็นแพ็กเกจได้ในเดือน พ.ค.และเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้
โดยมีทั้งมาตรการใหม่จะเป็นการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะมาตรการให้คนเอาเงินออมออกมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้คิดมาตรการออกมาแล้วจะเริ่มใช้ในเดือน มิ.ย. ขณะที่มาตรการที่จะทำต่อเนื่องคือ มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งก็จะเดินหน้าต่อตามที่ได้บอกไว้ ขณะที่มาตรการต่างๆที่จะเพิ่มขึ้นมา เช่น การดูแลข้าราชการผู้มีรายได้น้อย มาตรการต่ออายุการเยียวยาก็ต้องมีบ้าง เช่น เราชนะ หรือ ม.33 เรารักกัน ซึ่งก็ได้มีการหารือกันว่าสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ก็อาจจะต่ออายุออกไปโดยที่ประชาชนไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน ส่วนจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ ให้ไปดูในรายละเอียด
“มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาท ยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยาและทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเหลือเงินอยู่ แต่หากเกิดการระบาดครั้งต่อๆ ไปซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตรงนั้นรัฐบาลก็ต้องเตรียมที่จะกู้เงินเพิ่มโดยมาตรการต่างๆ จะได้ใช้ในเดือน มิ.ย.แต่ประชาชนจะทราบก่อนในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนของภาคธุรกิจสามารถไปใช้โครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ หรือมาตรการพักชำระหนี้ของ สถาบัน การเงินได้ ขณะที่แผนการเปิดประเทศรัฐบาลยังยืนยันว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วในวันที่ 1 ก.ค.2564 โดยไม่ต้องกักตัวซึ่งเป็นไปตามกำหนดเดิม ซึ่งจากการไปสำรวจความต้องการที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต ของนักท่องเที่ยวต่างชาติพบว่ายังมีความต้องการที่สูงมาก”.