ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หรือสภาวะโลกร้อน หลายท่านคงพอทราบว่าสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์เอง อากาศที่ร้อนขึ้น เป็นเหตุให้เกิดภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงและบ่อยครั้ง ซึ่ง World Economic Forum ได้จัดให้ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ climate change เป็นความเสี่ยงระยะยาวที่มีโอกาสเกิดสูงและจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
บรรดาผู้นำประเทศเห็นถึงความสำคัญของ climate change และร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Change Agreement) ในปี 2559 ตั้งเป้ารักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หลายประเทศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (net zero emission) เช่น ฟินแลนด์ (ปี 2035) ออสเตรเลีย (ปี 2040) สหรัฐฯและแคนาดา (ปี 2050) จีน (ปี 2060)
ฟากธนาคารกลางเริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น นำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ได้กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ climate change and central banking ว่า ECB เห็นถึงผลกระทบของ climate change ต่อบทบาทของธนาคารกลางที่อาจทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลเสถียรภาพราคา ระบบการเงิน และการดูแลความเสี่ยงในภาคธนาคาร โดย ECB ได้ประเมินผลกระทบและเตรียมรับมือความเสี่ยง climate change ไว้ได้น่าสนใจ ตามนี้
1.สหภาพยุโรปเตรียมเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy ใน 3 มิติ คือ (1) การกำหนดราคาที่คำนึงถึงต้นทุนการปล่อยคาร์บอน ผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) หรือกำหนดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและระบบซื้อขาย (2) การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ จะสะท้อนความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธุรกิจได้ (3) นวัตกรรมและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนจะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว และเร่งให้คนหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
2.Climate change กระทบพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพราคาของธนาคารกลาง สภาพอากาศวิกฤตินอกจากจะทำให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อผันผวนในระยะสั้น ยังกระทบในระยะยาวด้วย เพราะอากาศร้อนทำให้ผลิตภาพการทำงานต่ำลง คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตง่ายขึ้น และธุรกิจอาจไม่อยากลงทุนสะสมสินค้าทุนนัก เพราะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อย นอกจากนี้ นโยบายเพิ่มต้นทุนการปล่อยคาร์บอนในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition policy) จะทำให้อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและธุรกิจสูงขึ้น
3.Climate change กระทบการส่งผ่านนโยบายการเงิน หากธุรกิจ มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยธรรมชาติสูง อาจทำให้ฐานะการเงินของสถาบันการเงินผู้ให้กู้เสี่ยงไปด้วย หรืออาจปล่อยกู้ภาคธุรกิจกลุ่มนี้น้อยลง ส่งผลให้ความสามารถธนาคารกลางในการส่งผ่านนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจผ่านช่องทางสินเชื่อลดลง
4.Climate change กระทบภาคธนาคาร ในการวางแนวทางการกำกับดูแลภาคธนาคารจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ECB ได้ประเมิน climate risk stress test ภาคธนาคารในช่วง 30 ปีข้างหน้าพบว่า หากไม่เตรียม transition policy ให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น อาจเห็นผลกระทบในยุโรปรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละประเทศและสาขาเศรษฐกิจ
ตอนนี้ ECB อยู่ระหว่างการทบทวนกลยุทธ์นโยบายการเงินให้สามารถรักษาหน้าที่ตามพันธกิจ พร้อมรับมือ climate risks จะเห็นได้ว่า ภาวะโลกร้อนที่สะสมจากการปล่อยคาร์บอนบนวิถีการผลิต การทำงาน การใช้ชีวิตของเรา กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อประเทศและโลกได้มาก หากช่วยลดโลกร้อนตั้งแต่วันนี้ จะลดความรุนแรงที่ต้องเผชิญจาก climate risks ในวันหน้าลงได้บ้าง...แค่เราลองปรับวิถีเดิมบ้างก็ช่วยโลกไม่ให้ร้อนขึ้นได้แล้วนะคะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **