อิสรภาพทางการเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อิสรภาพทางการเงิน

Date Time: 10 เม.ย. 2564 05:04 น.

Summary

  • ระยะหลังมานี้ เรามักจะได้ยินคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” กันบ่อยๆ ทำยังไงถึงจะมีเงินเข้ามาให้ใช้จ่ายได้ทุกเดือน โดยไม่ต้องทำงานประจำ ถ้าอยากกินของอร่อยร้านดังขนาดไหนก็จ่ายได้

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ระยะหลังมานี้ เรามักจะได้ยินคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” กันบ่อยๆ ทำยังไงถึงจะมีเงินเข้ามาให้ใช้จ่ายได้ทุกเดือน โดยไม่ต้องทำงานประจำ ถ้าอยากกินของอร่อยร้านดังขนาดไหนก็จ่ายได้ หรือนึกสนุกไปเที่ยวที่ไหนย่อมไปได้อย่างฝัน ที่สำคัญยังมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ยามเจ็บป่วยและฉุกเฉิน โดยไม่ต้องเดือดร้อนกู้หนี้ยืมสินใคร...ชีวิตนี้ไม่เอาอะไรอีกแล้ว ขอแค่นี้จริงๆ!!

ก่อนที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” ก็ต้องรู้จักวิธีสร้างสินทรัพย์ให้พอกพูนซะก่อน แล้วคอยดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินของเราให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยิ่งเรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอิสรภาพทางการเงินมากเท่านั้น

กระนั้น “มูลค่าของอิสรภาพทางการเงิน” ของแต่ละคนไม่มีวันเท่ากัน ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่มโนขึ้นตามความพึงพอใจ บางคนบอกว่ามีเงิน 1 ล้านบาทต่อปี ก็เพียงพอสำหรับใช้จ่ายสบายๆแล้ว แต่บางคนต้องมีเงินเป็น 10 เป็น 100 ล้านบาท ถึงจะรู้สึกอุ่นใจ

เว็บไซต์ซื้อขายอสังหาฯตลาดระหว่างประเทศอันดับหนึ่งของจีน “Juwai.com” จัดอันดับต้นทุนของการมีอิสรภาพทางการเงินในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก เพื่อเป็นไอเดียสำหรับชาวจีน ในการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ตามใจปรารถนา โดยไม่ต้องทำงาน

ผลจากการสำรวจพบว่า ในปี 2021 “ลอนดอน” เป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณสูงที่สุดถึง 4.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมา ด้วยเกาะฮ่องกง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เซี่ยงไฮ้ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, นิวยอร์ก 3.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, โตเกียว 3.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, แวนคูเวอร์ 3.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สิงคโปร์ 3.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, โตรอนโต 2.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ซิดนีย์ 2.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ซีแอตเติล 1.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกัวลาลัมเปอร์ 1.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขเหล่านี้วัดมาจากไหน ก็วัดมาจากมูลค่าของทรัพย์สินหลังเกษียณที่เพียงพอให้อยู่ได้สบายๆ มีบ้านหนึ่งหลัง, รถสองคัน, เงินลงทุน 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีรายได้ในครัวเรือนหลัง หักภาษี 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ใครอยากมีอิสรภาพทางการเงิน มีวิธีคิดง่ายๆคือ ให้หาตัวเลขว่าแต่ละปีต้องใช้จ่ายเงินเท่าไหร่ และคาดว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ไปอีกกี่ปี ก็คูณจำนวนปีเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น เรามีค่าใช้จ่ายประจำ 30,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นปีละ 360,000 บาท อยากเกษียณตั้งแต่อายุ 60 ปี และคาดว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ไปอีก 20 ปี จนอายุ 80 ก็เท่ากับว่าเราต้องเตรียมเงินไว้สำหรับอนาคต 7,200,000 บาท เพื่อให้อยู่อย่างสบายไม่ต้องทำงานหลังเกษียณ ถ้าเอาให้ละเอียดกว่านั้นต้องคูณเงินเฟ้อเข้าไป 1.8 เท่า หมายความว่าเราต้องมีเงินออมมากกว่า 12,960,000 บาท ถึงจะมีอิสรภาพทางการเงินได้จริงหลังรีไทร์

แปลว่าถ้ายิ่งรู้จักวางแผนการเงินตั้งแต่อายุน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสจะสร้างสินทรัพย์เพื่อปลดแอกตัวเองให้มีอิสรภาพทางการเงินได้เร็วเท่านั้น เช่น “นายอดออม” อายุ 30 ปี เริ่มตั้งเป้าว่าจะลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ไปจนถึงอายุ 60 ปี โดยได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากดอกเบี้ย, กองทุน, หุ้น, เงินปันผล, ค่าเช่าอสังหาฯ และค่าลิขสิทธิ์ หากทำได้ต่อเนื่องไม่มีสะดุด เชื่อหรือไม่ว่าถึงตอนเกษียณ “นายอดออม” จะมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 10,856,605 บาท นี่คือความมหัศจรรย์ของพลังดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้เงินโตไวทันใช้ยามเกษียณ...

น่าเสียดายที่หลายคนยังไม่ล่วงรู้ความลับนี้!!

มิสแซฟไฟร์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ