น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงประเด็นการตั้งกรอบงบประมาณปี 65 ลดลงกว่างบประมาณปี 64 ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยปีงบประมาณปี 53 ก็ปรับลดกรอบวงเงินลงจากปีงบประมาณ 52 ราว 250,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ใช้มาตรการภาษีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อีกทั้งยังได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 (พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็งฯ) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีกด้วย “กระทรวงการคลังมีเครื่องมือวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 63 ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ที่ 2.47 สูงขึ้นจากสิ้นปีงบประมาณ 62 ซึ่งอยู่ที่ 1.44 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังต่ำกว่าระดับขีดเตือนภัยที่อยู่ที่ 5 สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด แต่ยังคงมีพื้นที่ว่าง ในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น”
น.ส.กุลยากล่าวว่า รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจยังคงลงทุนต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมูลค่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจแต่ละปีอยู่ที่กว่า 300,000 ล้านบาท เน้นการลงทุนที่จำเป็นและเกิดประโยชน์ ส่วนประเด็นระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เป็นตัวเลขในระบบการคลัง ที่องค์กรระหว่างประเทศและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody’s S&P’s และ Fitch ให้การยอมรับและนำมาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ การจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีนั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากลั่นกรองโครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาความพร้อมของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วนและความสอดคล้องกับหลักการและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ ซึ่ง สบน.ได้ติดตามและรายงานแผนและผลการบริหารหนี้สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลการกู้เงินของกระทรวงการคลัง บนเว็บไซต์ www.pdmo.go.th ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสของการดำเนินงาน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้.