ธปท.ประเมินมาตรการซอฟต์โลน ช่วยต่อชีวิตธุรกิจหลายหมื่น-จ้างงานหลายแสน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ประเมินมาตรการซอฟต์โลน ช่วยต่อชีวิตธุรกิจหลายหมื่น-จ้างงานหลายแสน

Date Time: 26 มี.ค. 2564 07:24 น.

Summary

  • ธปท.ประเมินมาตรการซอฟต์โลนใหม่-พักทรัพย์ พักหนี้ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องต่ออายุธุรกิจได้หลายหมื่นบริษัทและช่วยพยุงการจ้างงานไว้ได้อีกหลายแสนคน ระบุผู้ประกอบการที่ได้ซอฟต์โลนตามวงเงินเดิม ขอสินเ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.ประเมินมาตรการซอฟต์โลนใหม่-พักทรัพย์ พักหนี้ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องต่ออายุธุรกิจได้หลายหมื่นบริษัทและช่วยพยุงการจ้างงานไว้ได้อีกหลายแสนคน ระบุผู้ประกอบการที่ได้ซอฟต์โลนตามวงเงินเดิม ขอสินเชื่อตามมาตรการรอบใหม่นี้ได้เพิ่มเติมด้วย ขณะที่ทุกกิจการสามารถใช้มาตรการพักทรัพย์-พักหนี้ ไม่ใช่เข้าได้แต่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น เตรียมตั้ง Call Center เป็นกรณีพิเศษ ต้อนรับลูกหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า ได้มีการประเมินความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับ การประกอบธุรกิจได้หลายหมื่นบริษัท และสามารถพยุงการจ้างงานได้จำนวนหลายแสนคน และจะช่วยลดความเสี่ยง ของการลดต่ำลงของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้อีกด้วย

โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนของการตรากฎหมาย โดยทางการจะดูแลให้สามารถออกใช้ได้เร็วที่สุด ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะมีผลบังคับใช้พร้อมกัน โดยคาดว่าจะมีผลประมาณเดือน พ.ค.นี้ และเมื่อมาตรการนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว ลูกหนี้สามารถติดต่อได้โดยตรงกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และ หากมีข้อสงสัย ธปท.ได้จัดตั้ง Call Center เป็นกรณีพิเศษเพื่อตอบคำถามเรื่องนี้โดยตรง ที่โทร 02-283-6112 หรือ e-mail :FinRehab@bot.or.th

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อซอฟต์โลนในโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาทเดิม ยังสามารถขอสินเชื่อตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยเมื่อรวมสินเชื่อซอฟต์โลนเดิมกับสินเชื่อฟื้นฟูฯใหม่ที่จะออกมาแล้ว วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ 31 ธ.ค.62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.64 แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ขณะที่การค้ำประกันในครั้งนี้จะต่างจากเดิม โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีความคุ้นเคย โดยมีการค้ำประกันแบบทั้งพอร์ตสินเชื่อในอัตรา 40% และอายุการค้ำประกันระยะเวลาสูงสุด 10 ปี

ส่วนกรณีโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” นั้น ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าไม่ได้กำหนดว่าธุรกิจที่เข้าร่วมต้องเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เท่านั้น แต่พิจารณาจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีทรัพย์เป็นหลักประกันของสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจกับสถาบันการเงิน ก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ และไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจที่เข้าโครงการ แม้ว่าในเบื้องต้นธุรกิจโรงแรมจะเป็นเป้าหมายหลักในการเข้าโครงการก็ตาม

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ และต้องการเช่าทรัพย์เพื่อนำไปดำเนินธุรกิจต่อ ตามหลักการลูกหนี้เดิม ต้องการได้รับสิทธิในการเช่าทรัพย์เป็นลำดับแรก แต่หากไม่เช่าทรัพย์ สถาบันการเงินเจ้าหนี้สามารถเก็บค่ารักษาทรัพย์จากลูกหนี้ได้ตามจริง ขณะที่อีกกรณีหนึ่งสถาบันการเงินสามารถนำทรัพย์ดังกล่าว ให้ผู้อื่นเช่าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้เดิมด้วย เพราะเท่ากับมีบุคคลอื่นมาดูแลทรัพย์ไม่ให้เสื่อมโทรม และทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายค่าดูแลทรัพย์ เนื่องจากผู้เช่ารายอื่นจ่ายค่าดูแลทรัพย์ให้แล้ว

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ จะกลับมาเป็นบวก 7.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่จะเร่งตัวมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และโลก เพราะคนใช้จ่ายมากขึ้น จากการอัดอั้นช่วงไตรมาส 1 เมื่อเข้าไตรมาส 2 ก็เริ่มจับจ่ายมากขึ้น โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวเร็วกว่าเพื่อน คือ กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม สินค้าเล็กๆน้อยๆ และมาตรการภาครัฐ ออกมาเร่งการจับจ่าย เร่งการลงทุน เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2

สำหรับปัจจัยลบไตรมาส 2 ประกอบด้วย การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น เนื่องจากวัคซีนในประเทศที่เพิ่งเริ่มฉีด ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามามากนัก สิ่งที่ต้องติดตามคือมาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่น่าจะช่วย ช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัว แม้การส่งออกและการใช้จ่ายของคนในประเทศดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง ขณะเดียวกัน สต๊อกสินค้าที่ค่อนข้างสูงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ และการบริโภคสินค้าคงทน ที่คนต้องไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อ คนยังระมัดระวังอยู่ ดังนั้น การบริโภคที่กำลังฟื้นตัวแต่ไม่ถึงขั้นกระจายตัว โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่วนสินค้าคงทน สินค้าขนาดใหญ่ สินค้าเกี่ยวกับการลงทุน เช่น บ้าน รถใหม่ จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่มากในไตรมาส 2

ขณะที่อุตสาหกรรมเด่นที่จะฟื้นตัวไตรมาส 2 ได้แก่ 1.รถมือสองจะฟื้นเร็วกว่ารถป้ายแดง 2. มอเตอร์ไซค์ จากกำลังซื้อภาคเกษตรที่ดีขึ้น 3. อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับค้าปลีกค้าส่งจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามกำลังซื้อที่ดีขึ้น มาตรการภาครัฐยังคงสนับสนุน ในการกระตุ้นการบริโภค 4.อุตสาหกรรมยางรถยนต์ กลุ่มนี้พึ่งพากำลังซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ บรรจุภัณฑ์ หรือพลาสติก และ 6. โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ คนไข้ในประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ