แก้ซอฟต์โลน พักทรัพย์-พักหนี้ ปล่อยกู้ฟื้นฟูรายใหม่ เพิ่มรายเก่าชุบชีวิตธุรกิจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้ซอฟต์โลน พักทรัพย์-พักหนี้ ปล่อยกู้ฟื้นฟูรายใหม่ เพิ่มรายเก่าชุบชีวิตธุรกิจ

Date Time: 24 มี.ค. 2564 07:25 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่อุดช่องโหว่ พ.ร.ก.เดิม แบ่งวงเงินเป็น 2 มาตรการ คือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ให้ลูกหนี้ใหม่ได้สินเชื่อ และเพิ่มดอกเบี้ยจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่อุดช่องโหว่ พ.ร.ก.เดิม แบ่งวงเงินเป็น 2 มาตรการ คือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ให้ลูกหนี้ใหม่ได้สินเชื่อ และเพิ่มดอกเบี้ยจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้และออกมาตรการ “พักทรัพย์-พักหนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ...ซึ่งเป็นการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับเดิม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า 22% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะประสบปัญหาสภาพคล่องในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ขนส่ง และชิ้นส่วนรถยนต์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แถลงร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายดนุชา พิทยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้ปรับแก้ไขมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลนปัจจุบัน ซึ่งจากวงเงินรวม 500,000 ล้านบาท มีผู้รับสินเชื่อไป 130,000 ล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่ จึงได้ปรับเงื่อนไขให้เข้าถึงมากขึ้นและให้บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้มาค้ำประกันสินเชื่อขนาดใหญ่เป็นการชั่วคราว

ด้านนายอาคมกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังมีความรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยืดเยื้อนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในการเข้าถึงสภาพคล่องและแหล่งทุน โดยบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบรุนแรง และใช้เวลานานฟื้นตัว เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ การช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมอย่างเดียว อาจไม่ได้บรรเทาความเดือดร้อนได้ตรงจุดและเพียงพอ เนื่องจากยังไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้เต็มศักยภาพ แต่มีภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เลิกกิจการถาวร

ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ 31 ธ.ค.62 หรือ ณ 28 ก.พ.64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ 28 ก.พ.64 ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ช่วง 5 ปีแรก ที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธปท.

ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมให้โดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญา นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากมาตรการนี้เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบธุรกิจ

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) หรือ Asset Warehousing วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง ให้กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังโควิด-19 คลี่คลายลง

ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด ซึ่งรวมถึงราคาที่ซื้อทรัพย์สินคืนจากสถาบันการเงิน โดย ธปท.จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้น เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย สำหรับมาตรการนี้มีระยะเวลา 5 ปี โดยกระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน จากเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้เจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน กรณีที่ซื้อทรัพย์สินคืนจากสถาบันการเงิน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ