“ไทยบาทดิจิทัล” คืออะไร

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ไทยบาทดิจิทัล” คืออะไร

Date Time: 9 มี.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • หลังจากถูกคัดค้านในช่วงก่อนหน้า วันนี้ “คริปโตเคอเรนซี” ได้รับการยอมรับมากขึ้นแล้วจากหลายประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขนาดตลาดและผู้เล่นทวีจำนวนขึ้น

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

หลังจากถูกคัดค้านในช่วงก่อนหน้า วันนี้ “คริปโตเคอเรนซี” ได้รับการยอมรับมากขึ้นแล้วจากหลายประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขนาดตลาดและผู้เล่นทวีจำนวนขึ้น มีสินค้าและบริการที่ยอมรับการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นเดียวกับราคาคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะสกุลหลักเช่น “บิทคอยส์” ที่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้ “ธนาคารกลาง” ทั่วโลก ยังไม่ยอมรับคริปโตเคอเรนซี ในฐานะ “สกุลเงินหลักที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าแนวคิด “เงินดิจิทัล” จะถูกทิ้งไป ตรงกันข้าม 2-3 ปีที่ผ่านมา “เงินดิจิทัล” ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า “สกุลเงินดิจิทัล” คืออะไรกันแน่ หากอธิบายง่ายๆ คือ สกุลเงิน “เสมือนจริง” ที่ใช้ในการเข้ารหัส เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ไม่ให้สามารถปลอมแปลงหรือจ่ายซ้ำได้

ข้อดีของการใช้ “เงินดิจิทัล” คือ สามารถลดข้อจำกัดของการใช้เงินสด รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ระบบการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่มีต้นทุนค่าบริหารจัดการสูง เข้าถึงได้ยาก และต้องผ่านตัวกลางคือธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต เพราะเงินสกุลดิจิทัล ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (DLT) หรือที่รู้จักกันในชื่อบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งส่งผ่านมูลค่าระหว่างกันโดยไม่มีตัวกลาง ต้นทุนต่ำ ผู้ใช้เข้าถึงง่ายในทุกที่ทุกเวลา

ส่วนข้อเสีย คือ เมื่อธนาคารกลางยังไม่รองรับ “คริปโตเคอเรนซี” หากมีความผิดพลาดในการจัดเก็บ สูญหาย ถูกฉ้อโกง จะไม่สามารถเรียกร้องทางกฎหมายได้ และมีความเสี่ยงถูกใช้ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน

ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1.สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน (Private Digital Currency) 2.สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

สกุลเงินดิจิทัลเอกชน มีจุดประสงค์เป็นสื่อกลางส่งผ่านมูลค่าแทนการชำระเงินปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัลแรกๆ จึงถูกพัฒนาขึ้นบนระบบเปิด โดยไม่มีมูลค่าใดๆหนุนหลัง ส่งผลให้ผันผวนสูง และส่วนใหญ่ใช้เพื่อเก็งกำไร เช่น บิทคอยส์ ซึ่งจากจุดบกพร่องดังกล่าว ทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลอีกประเภทที่มีเงินหรือสินทรัพย์หนุนหลัง (Stablecoin) เพื่อคงมูลค่าเงินดิจิทัลนั้นๆ เช่น สกุลเงิน Diem ซึ่งเป็นภาคต่อของ Libra ของ Facebook

Diem ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สร้างความตื่นตัวอย่างยิ่ง จากฐานผู้ใช้งานที่มีจำนวนมาก สามารถใช้ชำระหรือโอนเงินระหว่างประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับดูแลจึงมีความกังวลว่า สกุลเงินดิจิทัลจะกระทบอธิปไตยทางการเงิน รวมถึงใช้เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย อย่างไรก็ตาม Diem Association ได้สื่อสารว่าจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของแต่ละประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มออกใช้ Diem สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีนี้

ขณะที่ฝั่งเอกชนพัฒนาไปรวดเร็ว เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางยังอยู่ในขั้นการศึกษา นำโดย “ดิจิทัลหยวน : e-CNY” ซึ่งมีการพัฒนาเร็วที่สุด โดยจะประกาศใช้ในระดับประชาชนทั่วประเทศในปี 2565 ซึ่งเหตุผลสำคัญของหยวนดิจิทัล คือ การลดบทบาทเงินสด ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการทำผิดกฎหมาย นอกจากนั้น จีนกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่ระบบการชำระเงินกลับถูกบริหารจัดการโดยเอกชน ซึ่งเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินประเทศ

“ปรากฏการณ์หยวนดิจิทัล” ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกจับตาผลกระทบต่อระบบการเงิน เช่น การแข่งขันกับบัญชีเงินฝาก การไถ่ถอนสภาพคล่องในช่วงวิกฤติที่จะรวดเร็วขึ้น และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี

ส่วนเงินดิจิทัลของไทย ธปท.เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆของโลกที่พัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์” (ส.ค. 2561) โดยใช้ในระดับสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการชำระเงิน จากนั้นต่อยอดการใช้ CBDC เพื่อโอนเงินระหว่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างทดลองร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกำลังขยายขอบเขตสกุลเงินดิจิทัลลงมาในระดับประชาชน (retail CBDC)

โดยเริ่มทดลอง retail CBDC ร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสม โดยได้ทดลองใช้ในการจัดซื้อและชำระเงินระหว่างคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของปูนซิเมนต์ไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่าจะสรุปผล ข้อดีข้อเสีย และปัญหาอุปสรรคได้ในกลางเดือน มี.ค.นี้ ส่วนแนวคิดการใช้เงินดิจิทัลในระดับประชาชนนั้น หรือ “ไทยบาทดิจิทัล” นั้น ธปท.วางโครงสร้างไว้คร่าวๆ ว่าจะตรามูลค่า 1 ต่อ 1 กับเงินบาท แต่ข้อดีคือการเข้าถึงของประชาชนในทุกที่ทุกเวลา ในต้นทุนที่ถูกกว่าระบบปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา “ไทยบาทดิจิทัล” ที่สมบูรณ์ยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน การสร้างบัญชีเงินฝาก วิธีการโอนเงิน การสร้างระบบความปลอดภัย และความไว้วางใจจากประชาชน.

ประอร นพคุณ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ