โควิด-19 ทำจีดีพีปี 63 ติดลบ 6.1% ถดถอยมากสุดในรอบ 22 ปี ส่วนปี 64 คาดบวก 2.5-3.5% แต่ยังต่ำกว่าที่เคยคาดโต 3.5-4.5% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาน้อย จี้รัฐบาลเอาปัจจัยเศรษฐกิจมากระจายวัคซีน และรักษาบรรยากาศทางการเมือง ด้าน ธปท. คาดปี 64 เศรษฐกิจไทยยังผันผวน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 4/63 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 4.2% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 6.4% ในไตรมาส 3/63 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 3/63 ส่วนทั้งปี 63 ลดลง 6.1% มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 6.0% ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ปี 63 จีดีพีไทยมีมูลค่า 15.7 ล้านล้านบาท หรือ 502,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, จีดีพีต่อหัวเฉลี่ยของคนไทย 225,913.8 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,219.2 เหรียญฯต่อคนต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของจีดีพี
“จีดีพีปี 63 ที่ติดลบ นับเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 52 ที่ติดลบ 0.7% และถดถอยมากสุดในรอบ 22 ปี หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40-41 ที่ติดลบ 7.6% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ โลกที่ลดลง 3.5% ต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่คาดว่าปี 64 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3.0% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% เป็นผลจากโควิด-19 ระลอกใหม่”
ทั้งนี้ ด้านการใช้จ่ายในปี 63 มูลค่าส่งออก ลดลง 6.6% บริโภคเอกชน ลดลง 1% และลงทุนรวมลดลง 4.8% ส่วนการใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่ม 0.8% และลงทุนภาครัฐ เพิ่ม 5.7% ขณะที่การผลิตนั้นสาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ลด 3.4% อุตสาหกรรม ลด 5.7% ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลด 36.6 % และขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลด 21.0%
สำหรับปี 64 ที่คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5-3.5% นั้นคาดว่า มูลค่าส่งออกขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.0% และการลงทุนรวมขยายตัว 5.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 1.0-2.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของจีดีพี ขณะที่คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3.2 ล้านคนที่จะเข้ามาได้ในไตรมาส 4 ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะมี 5 ล้านคน “ขอให้รัฐบาลเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาใช้กระจายวัคซีนด้วย โดยเฉพาะการกระจายให้ภาคท่องเที่ยวในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และภาคการผลิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด”
นอกจากนี้ในปี 64 ต้องอาศัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก จึงต้องกระตุ้นการใช้จ่ายดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รักษาบรรยากาศทางการเมืองให้เกิดความเชื่อมั่น ดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และบริการ ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เป็นต้น
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จีดีพีปี 63 หดตัว 6.1% สูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ หลังการสะสมสินค้าคงคลังเร่งขึ้นมาก และรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว เพราะแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัว ส่วนปี 64 คาดเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ เพราะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อช่วงต้นปี.