บอร์ด ท.ท.ช.เห็นชอบออกประกาศเก็บเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยคนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท สมทบกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดปีนี้เก็บได้ 3,000 ล้านบาท นำไปซื้อประกันอุบัติเหตุให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคน พร้อมสะสมไว้ช่วยผู้ประกอบการและแรงงานกรณีเกิดวิกฤติ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาท เพื่อสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุต่างๆ การเก็บค่าธรรมเนียมนี้คล้ายกับภาษีซาโยนาระของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า เมื่อเข้ามาในประเทศไทยและประสบอุบัติเหตุบริษัทประกันที่นักท่องเที่ยวทำไว้จะต้องดูแลตามขั้นตอนจนกระทั่งกลับประเทศ สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำร่างประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดเก็บในรายละเอียด เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน
“ท.ท.ช.จะประกาศกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขต่างๆ จากนี้จะประสานทำตามขั้นตอนให้เสร็จในขณะที่ตอนนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพราะถ้าใช้ตอนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาคงจะยุ่ง ซึ่งข้อดีของการจัดทำเรื่องนี้ จะสามารถดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีที่เขาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ โดยนำเงินไปซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว คาดว่าอยู่ที่คนละ 34 บาท โดยจากนี้จะไปหารือ กับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อีกครั้ง นอกจากนี้ วงเงินที่จัดเก็บยังสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ด้วย เช่นถ้าในตอนนี้เรามีกองทุนอยู่ก็สามารถเอามาเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบได้”
รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2562 ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเช่นปีละ 30 ล้านคน ก็จะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ปีละ 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องไปหารือกระทรวงการคลังด้วยว่าตั้งกำหนดเพดานสูงสุดของเงินสะสมของกองทุนด้วยหรือไม่ สำหรับการจะจัดเก็บเงินจะใช้รูปแบบออนไลน์ เบื้องต้นในปี 2564 นี้ หากเริ่มต้นเก็บคนละ 300 บาท ตามประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ล้านคน จะทำให้กองทุนมีเงินถึง 3,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทรวงได้หารือกับสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย มีข้อเสนอให้ผ่อนผันการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย การเข้าถึงซอฟท์โลน และการช่วยเหลือแรงงานโดยเฉพาะของโรงแรม หลังจากนี้จะไปหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว 400,000 คน อาจจะทำในลักษณะการแบ่งจ่าย ค่าจ้างคนละครึ่ง รัฐบาลจ่าย 50% ผู้ประกอบการจ่าย 50% ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไม่ปลดพนักงานออก โดยจะเยียวยาเป็นเวลา 2 เดือนคือ ก.พ. และ มี.ค.
ส่วนการติดตามการช่วยเหลือสายการบินที่เคยเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องซอฟท์โลน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯและกระทรวงคมนาคม ก็สอบถามไปยังกระทรวงการคลัง รวมถึงหารือใน ครม.หลายครั้ง คาดว่าจะเยียวยาได้ทันก่อนที่จะเริ่มมีการเดินทาง ขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยและใครทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่นายกฯ พูดไว้
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า เดิมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 แต่กลับมาเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ จึงไม่ได้กำหนดรายละเอียดออกมา แต่ตอนนี้เห็นว่ามีความเหมาะสมที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบและจะประกาศใช้ในปีนี้ต่อไป.