ผวาโควิดทำเศรษฐกิจพัง 6 แสนล้าน กรณีแย่สุดลากยาว 3 เดือน จีดีพีติดลบ 0.3%

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผวาโควิดทำเศรษฐกิจพัง 6 แสนล้าน กรณีแย่สุดลากยาว 3 เดือน จีดีพีติดลบ 0.3%

Date Time: 8 ม.ค. 2564 09:09 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทย คาดโควิดระลอกใหม่ฉุดจีดีพีปี 64 หดเหลือ 2.2% จากเดิมคาดโต 2.8% พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยเป็น 3 กรณี กรณีแย่ที่สุดโควิดลากยาวใช้เวลาคุมการระบาด 3 เดือน คาดจีดีพีปี 64 ติดลบ 0.3%

Latest

เคล็ดลับจัดการเงินคนเจน Z

ม.หอการค้าไทย คาดโควิดระลอกใหม่ฉุดจีดีพีปี 64 หดเหลือ 2.2% จากเดิมคาดโต 2.8% พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยเป็น 3 กรณี กรณีแย่ที่สุดโควิดลากยาวใช้เวลาคุมการระบาด 3 เดือน คาดจีดีพีปี 64 ติดลบ 0.3% เศรษฐกิจเสียหาย 300,000–600,000 ล้านบาท ชี้รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 1 มองหนี้ครัวเรือนอาจทะลุ 90% ของจีดีพีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถ้าคุมโควิดไม่ได้ทำให้รัฐต้องล็อกดาวน์เข้มข้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และการระบาดขยายวงกว้างไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นนั้น อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 64 เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8%

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดขณะนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ แต่กระทบถึงภาคการผลิตและการส่งออก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ซึ่งศูนย์ประเมินว่าสถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน โดยรัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อย่างน้อย 200,000 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ควบคู่ไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ “มาตรการคนละครึ่ง” เพราะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2-3 เท่าตัว

“การใช้เงิน 200,000-300,000 ล้านบาท เป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด แต่ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ต้องใช้เงิน 400,000-600,000 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่ใช้งบจากการขาดดุลงบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว การจัดเก็บรายได้จะเข้ามาตามแผน”

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักได้ หากคุมการระบาดไว้ไม่อยู่ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้น (ฮาร์ด ล็อกดาวน์) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะติดลบถึง 11.3% แต่ปัจจุบันยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้อาจจะติดลบ 4% และหากสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่จีดีพีไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10%

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จึงจำเป็นอย่างมากในการพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 1 และกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จากนั้นต้องสร้างโมเมนตัมในไตรมาส 3-4 ซึ่งต้องขึ้นกับสถานการณ์ควบคุมโควิด และประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันยังมองว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปีนี้อาจทะลุ 90% ของจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถ้าไม่สามารถคุมโควิดได้ อาจทำให้รัฐบาลต้องล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น”

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไทย จากการยกระดับมาตรการใน 28 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดว่ามาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประเทศรอบนี้ เหมือนเป็น “ซอฟต์ ล็อกดาวน์” เพราะบังคับใช้บางพื้นที่และยังมีความยืดหยุ่นกับกิจการ/กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการล็อกดาวน์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.63 ที่ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนทำให้ทุกกิจการ/กิจกรรมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก

ทั้งนี้ ศูนย์ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไว้ใน 3 กรณี คือกรณีฐาน (คุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์) คาดจีดีพีปี 64 จะโตได้ 2.2% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.71% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 85% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 100,000-200,000 ล้านบาท, กรณีที่แย่กว่า (คุมได้ภายใน 2 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน+ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 1 เดือน) คาดจีดีพีปี 64 จะโตได้ 0.9% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.76% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.1% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 200,000-400,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีแย่ที่สุด (คุมได้ภายใน 3 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน-ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 2 เดือน) คาดจีดีพีปี 64 จะติดลบ 0.3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.81% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 87.2% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 300,000-600,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ