เงินบาทแข็งค่าในรอบ 7 ปี 6 เดือน หลุดแตะ 29.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังถูกสหรัฐฯ ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตาว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน ขณะที่ ธปท. ย้ำไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า ด้าน ส.อ.ท.ห่วงบาทแข็งโป๊ก กระทบอุตสาหกรรมส่งออก เรียกร้องให้ ธปท.ช่วยเหลือเร่งด่วน
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปิดตลาดที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง จนค่าเงินบาทลงไปแตะที่ 29.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 ปี 6 เดือน นับจากวันที่ 27 พ.ย.56 จากนั้นค่าเงินบาทได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 29.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเมินว่าภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ หรือก่อนสิ้นปีนี้ เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.80-30.00 บาท โดยปัจจัยที่ทำให้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจ
และอีกปัจจัยหนึ่งเกิดจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List หรือประเทศที่ต้องจับตา ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน ทำให้นักลงทุนมองว่า ช่วงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน จึงมีแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐฯออกมาและทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น “ค่าเงินบาทเคยหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.63 จากนั้นก็มีแรงยื้อให้กลับมาที่ 30 บาท แต่เมื่อนักลงทุนมองว่า ธปท.กำลังถูกจับตาจากสหรัฐฯและคงไม่กล้าแทรกแซงค่าเงิน จึงมีแรงเทขายเงินดอลลาร์ออกมา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว”
ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท.เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯฉบับล่าสุด ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List หรือประเทศที่ต้องจับตา เนื่องจากเหตุผลที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ โดยรอบนี้มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทยและอินเดีย
ธปท.ขอเรียนว่าการที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring List ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์ “ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาท เมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไป ทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่าและไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด”
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 8.56% มาอยู่ที่ 30.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดือน เม.ย.อยู่ที่ 33.05 บาท ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกและรายได้การส่งออกลดลง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามที่ค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นเพียง 1.97% “เงินบาทที่แข็งค่า กระทบอุตสาหกรรมส่งออกทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น เป็นข้อพิจารณาของประเทศคู่ค้าหากต้องการซื้อสินค้าจากไทย ซึ่ง ธปท.ต้องมีมาตรการมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันการค้า ผมมองว่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์”
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,258 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศเดือนพ.ย. ของ ส.อ.ท. พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก 70.5% อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 46.1% ราคาน้ำมัน 41% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.5% สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ การเมืองในประเทศ 55% ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้ และให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 64 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่อเนื่อง เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญ
ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 หลังผ่อนปรนการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน.