นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการก่อหนี้ในโครงการต่างๆ ตามแผนงานหรือโครงการให้มากที่สุด ในช่วงไตรมาสที่สอง ของปีงบประมาณ 2564 (ม.ค.-มี.ค.2564) เพื่อจะช่วยทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณลงไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ เช่นเดียวกับการดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องทางด้านสังคมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาการจ้างงานด้วย
“สำนักงบประมาณอยากให้มีเรื่องของการก่อหนี้ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการเบิกจ่ายไม่ใช่มาเซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2563 แล้วจบ แต่ต้องการให้ก่อหนี้ให้ทันในเดือน มี.ค.2564 เพื่อให้เงินจากรัฐอัดฉีดเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว จนเกิดตัวทวีคูณลง ให้ผู้รับจ้างได้รับเงิน และยังมีเงินไปหมุนในระบบหลายๆรอบ”
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ประเมินการขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2564 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง จะต้องผลักดันงบประมาณออกไปให้ได้ไตรมาสละ 30% ของวงเงินงบประมาณรวม หมายความว่า เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่สอง เดือน มี.ค.2564 การใช้จ่ายงบประมาณต้องออกมาแล้ว 60% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณรวม ส่วนในช่วงที่เหลือก็ต้องทยอยใช้จ่ายให้หมดโดยตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายให้ได้ 100%
นอกจากนี้ในส่วนของการจัดทำงบประมาณปี 2565 ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
สำหรับการจัดสรรงบนี้ได้มุ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศการยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศด้วย.