นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวลวงว่า ปี 64 รัฐบาล เตรียมกู้เงินเพิ่มอีก 3 ล้านล้านบาท มากสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้หนี้สาธารณะทะลุ 9 ล้านล้านบาท ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง สำหรับการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบ 64 จะมีรายการก่อหนี้ใหม่ 1.47 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 623,000 ล้านบาท, เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนงานตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 550,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 133,657 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจำนวน 158,782 ล้านบาท ซึ่งในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันการกู้เงินเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านวิกฤตการณ์ดังกล่าวไปได้
สำหรับแผนการบริหารหนี้เดิม 1.28 ล้านล้านบาท เป็น การปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่ครบอายุ เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มยอดหนี้ใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความ
น่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies) ระดับสากล ได้แก่ เอสแอนด์พี (S&P) มูดีส์ (Moody’s) และฟิทช์ เรตติ้ง
(Fitch Ratings) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากไทยมีภาค การคลังสาธารณะที่แข็งแกร่งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังที่รอบคอบ และรักษาวินัยทางการคลัง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี 64 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 60%.